ข้อเท็จจริง
เกี่ยวกับการปฏิรูปการปกครองในประเทศไทย เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549
ประเด็นอื่นๆ ที่อยู่ในความสนใจ
สถาบันพระมหากษัตริย์กับสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
ทรงครองราชย์ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมาตลอดรัชกาลซึ่งยาวนานถึง
60 ปี ตลอดระยะเวลา 60 ปีที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
ทรงวางพระองค์อย่างเคร่งครัดในฐานะพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ
ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา
สังคมไทยเผชิญกับความแตกแยกอย่างหนักระหว่างคนที่สนับสนุนและคัดค้านรัฐบาลของพันตำรวจโททักษิณ
ชินวัตร แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มิได้ทรงเข้าแทรกแซงในทางใด
ทรงปฏิเสธข้อเรียกร้องในการที่จะให้นำมาตรา 7 ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 มาใช้
กล่าวคือ การจัดให้มีนายกรัฐมนตรีพระราชทาน นอกจากนั้น
ยังมีพระราชดำรัสแก่คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาและศาลปกครองสูงสุดเมื่อปลายเดือนเมษายน
2549
ขอให้สถาบันตุลาการเข้าคลี่คลายสถานการณ์ทางการเมืองเพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตย
แทนการเรียกร้องให้พระมหากษัตริย์เข้ามาแทรกแซง
สำหรับการเข้ายึดอำนาจการปกครองของฝ่ายทหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน
2549 นั้น โดยข้อเท็จจริง
คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้เข้ายึดอำนาจการปกครอง
แล้วจึงได้กราบบังคมทูลขอเข้าเฝ้าฯ
เพื่อถวายรายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้เป็นประเพณีที่ถือปฏิบัติในประเทศไทยด้วยเห็นว่าการเข้ายึดอำนาจการปกครองเป็นเหตุการณ์สำคัญ
ซึ่งองค์พระประมุขสมควรจะได้ทรงรับทราบ
ส่วนการที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พลเอกสนธิ
บุญยรัตกลิน
เป็นหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขก็เพื่อให้มีอำนาจรักษาความสงบเรียบร้อยและป้องกันเหตุที่อาจจะนำไปสู่ความรุนแรงได้
ในอดีตก็เคยมีการปฏิบัติทำนองนี้มาแล้ว
เช่นเมื่อคราวที่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.)
เข้ายึดอำนาจการปกครองเมื่อปี 2534
อย่างไรก็ตาม ในด้านการเมืองการปกครอง
พระมหากษัตริย์ไทยทรงตระหนักถึงการดำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
และทรงเข้าพระทัยถึงการเมืองที่มีลักษณะแยกออกจากสถาบันพระมหากษัตริย์
โดยทรงวางพระองค์อยู่นอกกรอบการเมืองของชาติอย่างเคร่งครัดเสมอมา
การประกาศกฎอัยการศึก
สำหรับเหตุผลของการประกาศกฎอัยการศึกและความจำเป็นในการคงประกาศกฎอัยการศึกนั้น
เพื่อควบคุมให้สถานการณ์ในประเทศดีขึ้น
และกลับสู่ภาวะปกติตามการปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยเร็ว ทั้งนี้
การประกาศกฎอัยการศึกดังกล่าว เป็นไปตามรัฐธรรมนูญไทยที่เคยมีมาทุกฉบับ
และแม้ในระดับสากลก็ยอมรับไว้ในข้อ 4 (1)
ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
(International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR)
ซึ่งระบุว่าในภาวะฉุกเฉิน
มีภัยสาธารณะอันคุกคามความอยู่รอดของชาติและได้มีการประกาศภาวะนั้นอย่างเป็นทางการแล้ว
รัฐภาคีแห่งกติกานี้อาจใช้มาตรการที่เป็นการเลี่ยงพันธกรณีของตนภายใต้กติกานี้ได้เพียงเท่าที่จำเป็นตามความฉุกเฉินของสถานการณ์
ทั้งนี้มาตรการเช่นว่านั้นจะต้องไม่ขัดแย้งต่อพันธกรณีอื่นๆ ของตน
ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศและไม่เป็นการเลือกปฏิบัติเพียงเหตุแห่งความแตกต่างด้านเชื้อชาติ
ผิว เพศ ภาษา ศาสนา หรือเผ่าพันธุ์ทางสังคม
ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 9 ได้ประกาศอย่างแจ้งชัดว่า "จะยึดมั่นในหลักกฎบัตรสหประชาชาติ
และองค์การระหว่างประเทศอื่นๆ เพื่อผลประโยชน์ของชาติ จะรักษาไว้ซึ่งสิทธิ
และจะปฏิบัติตามพันธกรณีในสนธิสัญญา หรือข้อตกลงที่ทำไว้กับนานาประเทศ..."
ซึ่งต่อมารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2549
ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2549 ก็มีหลักประกันการคุ้มครองสิทธิ
เสรีภาพ เช่นนี้ โดยมาตรา 3 แห่งรัฐธรรมนูญฯ กำหนดว่า "ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้
ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค
บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศมีอยู่แล้ว
ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้"
แม้ขณะนี้ ประกาศกฎอัยการศึกยังมีผลใช้บังคับอยู่ โดยมีข้อสังเกตว่า
มาตรา 11 ของพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457
ให้อำนาจเด็ดขาดแก่เจ้าพนักงานฝ่ายทหารที่จะจำกัดหรือห้ามประชาชน
มิให้กระทำการใดๆ ได้หลายกรณี เช่น การห้ามมั่วสุมชุมนุมกัน
การห้ามจำหน่ายหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือหนังสือพิมพ์
การห้ามส่งวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์ การห้ามใช้ทางสาธารณะ
การห้ามใช้เครื่องมือสื่อสาร และการห้ามออกนอกเคหสถาน เป็นต้น แต่
คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือที่ปัจจุบันคือคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติกลับใช้อำนาจที่มีอยู่ดังกล่าวอย่างจำกัดและเท่าที่จำเป็นเท่านั้น
ทั้งนี้ เพื่อให้มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนน้อยที่สุด
โดยจำกัดสิทธิทางการเมืองเพียงบางประการ ได้แก่ การห้ามชุมนุมทางการเมือง
ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป
ซึ่งเหตุผลสำคัญก็เพื่อควบคุมสถานการณ์ฉุกเฉินภายในประเทศในระยะเฉพาะหน้า
และเพื่อเหตุผลด้านความมั่นคง
ซึ่งเพิ่งผ่านพ้นการยึดอำนาจมาเพียงประมาณเดือนเศษ จึงเห็นได้ว่า
การใช้กฎอัยการศึกจำกัดสิทธิดังกล่าวสอดคล้องและเป็นไปตามข้อ 4 (2) ของ
ICCPR ที่อนุญาตให้มีการเลี่ยงพันธกรณีในภาวะฉุกเฉินได้เท่าที่จำเป็น
และอันที่จริงก็สอดคล้องกับระบบกฎหมายของไทยอยู่ก่อนแล้ว
โดยจะพิจารณาผ่อนคลายหรือยกเลิกเมื่อสถานการณ์เข้าสู่ภาวะที่ไว้วางใจได้แล้วต่อไป
อนึ่ง มีข้อสังเกตว่า
การใช้อำนาจของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ในการจำกัดสิทธิของประชาชนบางประการข้างต้น
มิได้ริดรอนสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนที่กฎหมายระหว่างประเทศกำหนดห้ามการละเมิดอย่างเด็ดขาดแต่อย่างใด
เช่น สิทธิในการมีชีวิต (right to life) สิทธิที่จะไม่ได้รับการทรมาน
สิทธิที่จะไม่ได้รับการปฏิบัติ หรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม (right
to be free from torture and other inhumane or degrading treatment or
punishment) เป็นต้น
ในทางปฏิบัติ
ถึงแม้ว่าจะมีการออกประกาศกฎอัยการศึกโดยจำกัดการใช้สิทธิทางการเมืองบางประการก็ตาม
แต่ในความเป็นจริง สื่อมวลชนแขนงต่างๆ ก็ยังสามารถเสนอข่าวได้อย่างปกติ
คดีต่างๆ ยังสามารถไปสู่ศาลยุติธรรมได้ตามปกติ
อีกทั้งประชาชนทั่วไปก็สามารถแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้โดยเสรี
หากต้องอยู่ในขอบเขตที่เหมาะสมตามกฎหมาย
สิทธิเสรีภาพของประชาชน
การปฏิรูปการปกครองและมาตรการต่างๆ
ของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ทำให้ได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์มากว่าส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนหรือสิทธิพลเมือง
(civil liberties) อาทิ การจำกัดบริเวณผู้นำทางการเมืองบางคน
ซึ่งอันที่จริงบัดนี้ก็ได้มีการปล่อยตัวไปแล้ว
การจำกดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพของสื่อมวลชนในช่วงการยึดอำนาจการปกครอง
การจำกัดเสรีภาพในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง
โดยเฉพาะในส่วนของพรรคการเมือง
และการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ (เกินกว่า 5 คน)
ซึ่งขณะนี้ยังมีผลอยู่
ในการปฏิรูปการปกครองครั้งนี้
คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไม่มีความประสงค์ที่จะจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน
แต่ตระหนักดีว่า มาตรการต่างๆ
อาจส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ในระยะเฉพาะหน้า
จึงได้ระมัดระวังอย่างยิ่งที่ให้มีข้อจำกัดสิทธิเสรีภาพให้น้อยที่สุดและตราบเท่าที่จำเป็นจริงๆ
เท่านั้น ซึ่งการดำเนินการและมาตรการต่างๆ
ที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นความพยายามในแนวทางนี้ ทั้งนี้
เพราะมีความจำเป็นจากสถานการณ์ฉุกเฉิน
เหตุผลทางการเมืองความมั่นคงและการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ
เนื่องจากยังเป็นช่วงหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงอำนาจทางการเมือง
หลังจากที่สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้วจะมีการประกาศยกเลิกข้อจำกัดเหล่านี้
รวมทั้งกฎอัยการศึกโดยเร็ว
ในทางปฏิบัติ
เป็นที่ประจักษ์ว่าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
หรือคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ และรัฐบาลมิได้มีเจตนารมณ์หรือดำเนินการใดๆ
ที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชนแต่อย่างใด
ยังมีการชุมนุมเรียกร้องสิทธิเสรีภาพหรือแม้กระทั่งคัดค้านการปฏิรูปฯ
ในมหาวิทยาลัยและสถานที่สาธารณะอย่างเปิดเผย
ซึ่งทางการเพียงแต่เฝ้าติดตามสถานการณ์เท่านั้น
มิได้สั่งระงับหรือห้ามกิจกรรมดังกล่าวตราบเท่าที่ไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงหรือความวุ่นวาย
นอกจากนี้ ในส่วนของกิจกรรมของพรรคการเมือง
ก็ได้ประกาศให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541
ยังคงใช้บังคับต่อไป
ในส่วนของประชาชน ยังมีสิทธิเสรีภาพในการติดต่อสื่อสาร
รับข้อมูลข่าวสารและเดินทางไปมาหาสู่กันเป็นปกติ
ดังเห็นได้จากสื่อมวลชนของไทยและต่างชาติทุกแขนงยังเสนอข่าวและความคิดเห็นทางการเมืองต่างๆ
อย่างแทบไม่แตกต่างไปจากช่วงเวลาปกติ
สื่อมวลชนและนักวิชาการบางส่วนยังแสดงความคิดเห็นที่ไม่เห็นด้วยกับการปฏิรูปอย่างชัดเจน
การดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชนหรือการดำเนินธุรกิจทั้งของคนไทยและต่างประเทศไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใดทั้งสิ้น
รวมทั้งการประชุมทางวิชาการ
ธุรกิจหรือเพื่อประสานราชการยังสามารถทำได้ตามปกติ
การดำเนินการข้างต้นและแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนนี้ได้รับการยอมรับ
และระบุไว้ในมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูยแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)
พุทธศักราช 2549 ที่ว่า "ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้
ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาค
บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
และตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว
ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้"
เศรษฐกิจพอเพียง
เศรษฐกิจพอเพียง
เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับตั้งแต่ระดับครอบครัว
ระดับชุมชนจนถึงระดับรัฐ
ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง
โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ ความพอเพียง
หมายถึง ความพอประมาณ พออยู่ พอมี พอกิน พอดี ไม่ฟุ้งเฟ้อ ความมีเหตุผล
การอยู่ในหนทางสายกลาง
รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใดๆ
อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรอบรู้
ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการนำวิชาการต่างๆ
มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน
ขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติโดยเฉพาะเยาวชน
เจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎีและนักธุรกิจในทุกระดับให้มีสำนึกในคุณธรรม
ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน
ความเพียร มีสติ ปัญญา
และความรอบคอบเพื่อให้สมดุลและพร้อมที่จะรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งในด้านวัตถุ
สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี
ก้าวต่อไปของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ
คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้ดำเนินการตามที่ได้ประกาศเจตนารมณ์ไว้คือ
ดำเนินการให้มีนายกรัฐนตรีเข้ามาจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนภายในสองสัปดาห์
ส่วนคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้เปลี่ยนเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ
โดยมีการดำเนินการที่ผ่านมาและที่จะดำเนินการต่อไป
ทั้งในส่วนของการตรวจสอบและแก้ไขปัญหา
อันเป็นเหตุแห่งการยึดอำนาจในครั้งนี้
และการร่วมกับทุกฝ่ายปฏิรูปการปกครองต่อไปข้างหน้า ดังนี้
การเข้ายึดอำนาจสืบเนื่องจากการทำลายหลักการและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
ปี 2540 โดยได้ยืนยันที่จะดำเนินการที่จะฟื้นฟูประชาธิปไตยโดยเร็ว
เข้าแทรกแซงทางการเมืองช่วงสั้น โดยใช้เวลาน้อยที่สุด เพื่อรักษาความสงบ
ความสามัคคี และความยุติธรรมภายในประเทศ
ดำเนินการให้คณะกรรมการการเลือกตั้งชุดใหม่คงสภาพต่อไป
โดยมีอำนาจหน้าที่ในการเตรียมการการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์และยุติธรรม
ดำเนินการให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
และให้คงอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบเหมือนเดิม
และแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)
คู่ขนานกันไป
พร้อมทั้งให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินสามารถปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจสอบการใช้เงินของรัฐและการป้องกันปราบปรามการทุจริตต่อไปอย่างอิสระ
ดำเนินการให้ผู้ตรวจการรัฐสภาปฏิบัติหน้าที่ต่อไปในการรับคำร้องจากประชาชนเกี่ยวกับการใช้อำนาจในทางที่ผิด
องค์กรอิสระที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ ปี 2540 บางองค์กร ได้แก่
ศาลปกครอง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ยังคงมีสถานะดังเดิม
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติยังคงมีบทบาทสำคัญในการให้คำปรึกษาแก่รัฐบาล
มีการจัดตั้งคณะที่ปรึกษา 4 ด้าน ประกอบด้วย ด้านการต่างประเทศ
เศรษฐกิจ สังคม และความสมานฉันท์แห่งชาติ
ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2549
ซึ่งส่งผลให้คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
กลายสภาพเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ
ดำเนินการให้มีการจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนเพื่อบริหารประเทศ
จะยกเลิกกฎอัยการศึกเมื่อสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติและมีความมั่นคงปลอดภัยเพียงพอ
ดำเนินการเพื่อแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติจนแล้วเสร็จ
อยู่ในระหว่างการดำเนินการเพื่อแต่งตั้งสมาชิกสมัชชาแห่งชาติจำนวนไม่เกิน
2,000 คน จากต่างสาขาอาชีพ เพื่อคัดเลือกกันเองให้เหลือ 200 คน และ 100 คน
ตามลำดับก่อนสิ้นปีนี้ เพื่อเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ
ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร โดยกระบวนการยกร่างจะใช้เวลาประมาณ 6
เดือน นับแต่วันเปิดประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญครั้งแรก
หลังจากนั้นส่งร่างรัฐธรรมนูญให้คณะรัฐมนตรี คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ
และองค์กรอิสระต่างๆ ให้ความเห็น และจัดให้มีการลงประชามติทั่วประเทศ
ตลอดจนออกกฎหมายที่จำเป็นต่อการเลือกตั้ง
ซึ่งจะนำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปภายในเวลาไม่เกินหนึ่งปี
นับจากเริ่มกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญ
ผู้สนใจข่าวเกี่ยวกับการดำเนินการของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
หรือคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ตลอดจนแนวทางการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง
สามารถหาข้อมูลได้ที่ เวบไซต์ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ www.mict.go.th/cdrc
และของกระทรวงการต่างประเทศ www.mfa.go.th
หน้าที่ 1
2 3
4 5
6 |