ข้อเท็จจริง
เกี่ยวกับการปฏิรูปการปกครองในประเทศไทย เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549
ช่อดอกไม้ที่ปลายกระบอกปืน
เหตุการณ์ที่กล่าวมาข้างต้นนี้เป็นพัฒนาการตลอดเวลาประมาณสามสิบวันนับแต่มีการปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเมื่อคืนวันอังคารที่
19 กันยายน 2549 แต่อันที่จริงไม่ว่าจะเรียกอย่างไรก็ตาม
ในสายตาของคนทั่วไปทั้งในและต่างประเทศ ก็คือ "การยึดอำนาจ" หรือ
"การรัฐประหาร" นั่นเอง
เมื่อกล่าวถึงการยึดอำนาจ
ภาพที่ผู้คนทั่วๆ
ไปย่อมนึกถึงและไม่สู้จะผิดความจริงนักคือภาพทหารแต่งเครื่องแบบพร้อมอาวุธและยุทโธปกรณ์ต่างๆ
ครบครัน เช่น รถถัง รถหุ้มเกราะ รถจีเอ็มซี ออกวิ่งตระเวนทั่วเมือง
บางแห่งมีการติดตั้งบังเกอร์ ขึงรั้วลวดหนาม
ขณะที่ทหารหมอบประทับอาวุธเตรียมพร้อมจะเหนี่ยวไก บางครั้งมีการต่อสู้
การวางเพลิง ขว้างปาระเบิด บางครั้งมีภาพรถดับเพลิง
รถพยาบาลเปิดไซเรนโหยหวน เสียงปืน เสียงระเบิด
และเสียงผู้คนร้องระงมดังอยู่ทั่วไป บางครั้งฝูงชนกรูเข้าขัดขวาง
จนทหารต้องกราดปืนเข้าใส่ประชาชนอาจถูกจับ มีผ้าปิดตามัดมือไพล่หลัง
และกว่าเหตุการณ์จะกลับสู่ความสงบต้องใช้เวลาอีกนาน บางครั้งแรมเดือน
แต่ภาพที่ชาวต่างประเทศซึ่งอยู่ในประเทศไทญอาจประหลาดใจ ก็คือ
ถ้าไม่นับกลางดึกของคืนวันที่ 19 กันยายน
ซึ่งทุกฝ่ายยังอยู่ในสภาพงุนงงว่าเกิดอะไรขึ้น และวันที่ 20 กันยายน
ซึ่งเป็นวันหยุดราชการแล้ว
สภาพทุกอย่างในกรุงเทพมหานครและประเทศไทยดูเป็นปกติเหมือนที่เคยเป็นเมื่อวันที่
18 กันยายน หรือก่อนหน้านั้น
เครื่องบินยังคงบินขึ้นลงที่ท่าอากาศยานกรุงเทพฯ เป็นปกติ
การจราจรตามท้องถนนกลับมาคับคั่งอย่างเดิม ศูนย์การค้าทุกแห่ง ร้านค้า
บริษัท ห้างร้าน ธนาคาร เปิดทำการเป็นปกติ
ผู้คนยังคงเที่ยวเตร่และจับจ่ายใช้สอยเป็นปกติ ร้านเพชร ร้านทองที่ถนนเยาวราชถสถานบันเทิงที่ถนนข้าวสารและย่านอาร์ซีเอ
แหล่งเริงรมย์ที่พัฒน์พงษ์ โรงแรมและสถานตากอากาศที่พัทยา ภูเก็ต เกาะช้าง
เกาะสมุย เชียงใหม่ ยังคงคลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยว วันที่ 28 กันยายน
มีการเปิดใช้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิอันเป็นท่าอากาศยานแห่งใหม่ตามกำหนดเดิมเทศกาลออกพรรษา
การทอดกฐินของชาวพุทธ การถือศีลอดของชาวมุสลิม การไหว้พระจันทร์ และเทศกาลกิยเจของชาวจีนยังดำเนินไปตามปกติ
ที่ศูนย์การค้าและมหาวิทยาลัยบางแห่ง
มีผู้ชุมนุมคัดค้านการยึดอำนาจแล้วสลายตัวไปโดยไม่มีการขัดขวางจากเจ้าหน้าที่สื่อมวลชนทำหน้าที่ดังเดิม
บางคอลัมน์และบางรายการวิพากษ์วิจารณ์การยึดอำนาจ คณะยึดอำนาจ
การแต่งตั้งรัฐมนตรี และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติอย่างรุนแรงเช่นเดิม
ภายในเวลาไม่ถึงสองสัปดหานับจากการยึดอำนาจ ทหาร
ตำรวจก็ถอยกลับเข้าที่ตั้งเหลือแต่ผู้มีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยสถานที่ราชการและสถานที่สาธารณตามปกติเหมือนเมื่อก่อนวันที่
19 กันยายน
ภาพที่ปรากฏต่อสายตาของผู้พบเห็นในช่วงเวลาสองสัปดาห์แรก
มิได้เป็นภาพความรุนแรง การต่อสู้
หรือการปราบปรามอย่างที่เคยปรากฏในการยึดอำนาจในบางประเทศหากแต่เป็นภาพที่ประชาชนนำอาหารและขนมมาหยิบยื่นส่งให้ทหารที่ยืนอิดโรยอยู่หน้ารถถังหรือตามสี่แยก
บางคนนำพวงมาลัยมาคล้องให้ทหารและปากกระบอกปืน หนังสือพิมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล
เฮรัลด์ ทรีบูน ฉบับวันที่ 22 กันยายน ค.ศ.2006 หน้า 7
ลงภาพการ์ตูนมีทหารยืนอยู่บนปืนใหญ่ ปากปืนใหญ่อุดไว้ด้วยช่อดอกไม้
ชาวต่างประเทศคนหนึ่งยืนทำหน้าที่พิศวงอยู่ข้างหน้า
และมีคำบรรยายได้ความว่า รถถังที่ไหนกัน เห็นมีแต่ดอกไม้
สื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศเสนอภาพประชาชนเหมารถจากต่างจังหวัดมาขอถ่ายรูปร่วมกับทหารและตำรวจที่ถือปืนยืนประจำยาม
ราวกับงานมหกรรม
หนุ่มสาวบางคู่แต่งชุดวิวาห์ควงคู่มายืนถ่ายรูปหน้ารถถังราวกับเป็นภาพที่ต้องการเก็บไว้ในความทรงจำ
ชาวต่างประเทศบางคนนุ่งกางเกงขาสั้น
สวมเสื้อยืดสีเหลืองสะพานเป้พาเพื่อนสาวมายืนถ่ายรูปด้วย
ผู้ปกครองบางคนพาลูกมาป่ายปีนรถถังราวกับงานวันเด็ก
เมื่อมีผู้ไปสัมภาษณ์ว่าคนเหล่านั้นคิดอย่างไร
ได้คำตอบว่าไม่มีอะไรมากไปกว่าอยากมีส่วนร่วมในการรักษาความสงบเรียบร้อยครั้งนี้ด้วย
บางคนตอบว่าสะใจและขอบคุณทหาร
ประเทศไทยมีภาพการชุมนุมตั้งเวทีปราศรัยขับไล่และโจมตีรัฐบาล
ตั้งเวทีงิ้วและการแสดงล้อเลียนรัฐบาล
และแทบทุกครอบครัวทุกประชาคมผู้คนแตกแยกความคิดเป็นฝักเป็นฝ่าย
ถือข้างต่างกันจนแทบไม่มองหน้ากันมาเป็นเวลานานแรมปีแล้ว
ต่อไปนี้จะได้ไม่มีฝักมีฝ่าย กลับมาพูดจาภาษาเดียวกันเสียที
บางคนยักไหล่ตอบตรงๆ ว่า ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ปกติเวลาทหารสับเปลี่ยนกำลัง
หรือสวนสนาม ทหารก็ออกมาอย่างนี้และเรียบร้อยอย่างนี้
เพียงแต่ครั้งนี้ไม่ได้ประกาศล่วงหน้าเท่านั้น จึงน่าตื่นเต้น
ชาวต่างประเทศบางคนตอบว่า "สนุกดี" ก่อนจะกดชัตเตอร์ถ่ายรูปอย่างไม่ยั้งมือ
เมื่อทุกอย่างกลับเข้าสู่ความสงบ ทหารและรถถังกลับเข้าสู่กรมกอง
ผู้คนก็เกือบลืมไปแล้วว่าเมื่อไม่กี่วันก่อนเกิดอะไรขึ้นในบ้านเมือง
อย่างไรก็ตาม
การยึดอำนาจการปกครองไม่ใช่สิ่งที่พึงปรารถนา
ถ้าจะพูดว่าก่อให้เกิดความรู้สึกที่เจ็บปวดก็ไม่ผิดนัก
เพราะการยึดอำนาจมิใช่กระบวนการหรือวิถีทางในระบอบประชาธิปไตย
ถ้าหากเราจะเน้นเฉพาะกระบวนการหรือวิถีทางอันเป็นเรื่องของรูปแบบ
การยึดอำนาจจึงเป็นข้อยกเว้น ไม่ใช่ปรากฏการณ์ปกติ
ส่วนที่ว่าข้อยกเว้นดังกล่าวมีได้หรือไม่ ชอบธรรมหรือไม่
เป็นปัญหาที่ถึงถกเถียงกันในทางตำราว่าด้วยทฤษฎีประชาธิปไตย
ดังที่ในหลายประเทศ นักทฤษฎีประชาธิปไตยยังคงถกเถียงกันถึงเรื่อง
สิทธิธรรมชาติในอันที่จะล้มล้างรัฐบาลหรือการปกครองที่ไม่เป็นธรรม เช่น
คราวที่ โธมัสเจฟเฟอร์สัน ยกร่างคำประกาศอิสรภาพของอเมริกาในค.ศ.1776
หรือประเทศอาณานิคมหลายแห่งลุกขึ้นเรียกร้องเอกราชจากประเทศเจ้าอาณานิคมที่กดขี่ข่มเหงอย่างไม่เป็นธรรมคตินิยมในหลายประเทศโดยเฉพาะในทวีปเอเชียเองก็เคยกล่าวถึงกรณีที่ผู้ปกครองไม่อยู่ในสัตย์ในธรรม
กระทำการย่ำยีจิตใจประชาชน
จนต้องลุกฮือขึ้นแสดงปฏิกิริยาบางอย่างให้เป็นที่ประจักษ์
แต่สิ่งที่แน่นอนที่สุดก็คือ
การยึดอำนาจการปกครองที่หากจะพอรับได้จะต้องทำในภาวะที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้
ไม่อาจใช้วิธีการอื่นเข้าจัดการ หรือที่บางทฤษฎีใช้คำว่า
"ภาวะอันสุดแสนจะทนทาน" เช่น
หากปล่อยทิ้งไว้จะเกิดความเสียหายใหญ่หลวงต่อประเทศชาติและประชาชนจนไม่อาจแก้ไขเยียวยาได้โดยง่าย
อีกประการหนึ่งคือ
ต้องหลีกเลี่ยงความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินเท่าที่จะทำได้
มิฉะนั้นจะกลายเป็นวิกฤตการณ์ร้าวฉานยิ่งใหญ่
การยึดอำนาจในตัวเองเป็นวิกฤตการณ์อย่างหนึ่งอยู่แล้ว
และมักอ้างการป้องกันหรือระงับวิกฤตการณ์อื่นในอนาคตอันใกล้เป็นเหตุผลในการก่อการเสมอ
ดังนี้แล้วจะก่อวิกฤตการณ์ซ้ำขึ้นใหม่อีกโดยไม่จำเป็นได้อย่างไร
ประการสุดท้ายคือ
การยึดอำนาจต้องเป็นที่ยอมรับของประชาชนหรือประชาคมในชุมชนนั้น
ดังที่การยึดอำนาจในหลายประเทศทำท่าว่าจะเริ่มต้นด้วยความสำเร็จ
แต่กลับล้มเหลวลงอย่างรวดเร็ว
เมื่อประชาชนตั้งสติได้และไม่ยอมรับหรือประสบความสำเร็จไปแล้วชั่วขณะหนึ่งจนน่าจะครองอำนาจต่อไปได้โดยง่าย
แต่แล้วก็กลับล้มครืนลงเพราะการคันค้านอย่างรุนแรงจากประชาชน
หน้าที่ 1
2
3 4
5 6 |