ข้อเท็จจริง
เกี่ยวกับการปฏิรูปการปกครองในประเทศไทย เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549
บทนำ
หลังจากที่สังคมไทยได้ผ่านประสบการณ์ในการก้าวไปตามเส้นทางของกระบวนการประชาธิปไตยมานานกว่าเจ็ดสิบปี
กล่าวได้ว่าประชาชนชาวไทยมีความเข้าใจและเรียนรู้ความหมาย รูปแบบ
ตลอดจนหลักการอันเป็นหัวใจสำคัญของระบอบประชาธิปไตยยิ่งขึ้นเป็นลำดับ
แม้บางช่วงเวลาจะเป็นการเรียนรู้ที่เจ็บปวดและมีราคาแพง
แต่ก็เป็นการเรียนรู้ที่ให้ความสำคัญแก่การย่างก้าวตามวิถีของกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยที่แท้จริงและถูกต้อง
โดยไม่ยึดว่าประชาธิปไตยจะต้องมีกลไกหรือรูปแบบอันเป็นเปลือกนอกเท่านั้นเป็นพอ
แต่คำนึงถึงเนื้อหาสาระที่เป็นจริงอีกด้วย
ในช่วงที่ผ่านมาอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองของไทยเป็นตัวแปรที่มีอิทธิพลส่งผลต่อกันและกัน
ผู้ครองอำนาจทางเศรษฐกิจบาคนมักจะมีช่องทางได้มาซึ่งอำนาจทางการเมืองด้วย
และกลับกันคือผู้ครองอำนาจทางการเมืองบางคนในบางยุคสมัยมักจะกำหนดนโยบายเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเฉพาะกลุ่มและพวกพ้องเป็นหลัก
มากกว่าเพื่อผลประโยชน์ของคนในชาติโดยส่วนรวม ดังนั้นจึงพบว่า
หลายครั้งที่การเลือกตั้งกลายเป็นเครืองมือรับใช้กลุ่มอำนาจทางเศรษบกิจเพื่อสืบทอดอำนาจทางการเมือง
และสร้างความชอบธรรมจากคำว่าประชาธิปไตยหรือคำว่าการเลือกตั้ง
โดยอ้างอิงกระบวนการที่ใช้อิทธิพลทางการเงินและการใช้อำนาจรัฐเข้าครอบงำเพื่อเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น
ตลอดจนอ้างอิงปริมาณของผู้สนับสนุนมาสร้างความชอบธรรม
ทำให้นึกถึงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่
6 ที่เคยทรงอุปมาไว้อย่างแยบคายว่า "กำหมัดคือยุติธรรมจงจำไว้
ใครหมัดใหญ่ได้เปรียบเรียบเทียวเกลอ"
ในสถานการณ์ที่การบริหารประเทศด้วยการใช้เครื่องมือและกลไกตามระบอบประชาธิปไตยคลายเคลื่อนไปจากหลักการที่แท้จริงโดยขาดธรรมาภิบาล
ผู้บริหารที่ใช้อำนาจ
ซึ่งได้มาจากกระบวนการเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม
มักจะนำไปสู่การแตกแยกเป็นฝักเป็นฝ่ายโดยง่าย
ทั้งผู้มีอำนาจนั้นมักจะไม่พยายามประสานความแตกต่าง
หากจะตอกย้ำขยายช่องว่าง ทำให้เกิดการแตกความสามัคคีของคนในชาติ
และมีแนวโน้มที่จะเผชิญหน้ากันด้วยความรุนแรงของกลุ่มที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันดังที่เรียกยุทธวิธีนี้ว่า
"แบ่งแยกแล้วปกครอง" (didide and rule)
สภาพเช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อสถาบันสำคัญทั้งหลายของชาติ
เพราะจะทำให้ถึงจุดที่กลไกประชาธิปไตยเดิมไม่เหลือทางเลือกอื่นใดให้กับสังคมไทยอีกต่อไป
อันจะเป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตยอย่างยิ่ง
การพัฒนาประชาธิปไตยของไทยเพื่อให้ก้าวไปสู่เนื้อหาประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
จึงเลี่ยงไม่พ้นการที่จะต้องเข้าระงับยั้บยั้งและเปลี่ยนแปลงแก้ไข
ตลอดจนเยียวยาเพื่อให้ทุกอย่างกลับมาสู่ร่องรอยปกติตามขนบธรรมเนียมประเพณี
วัฒนธรรม วิถีชีวิต และความรู้สึกร่วมกันของประชาชนชาวไทย
กระบวนการนี้อาจเรียกว่า "การปฏิรูปการเมืองการปกครอง"
เหตุการณ์ดังกล่าวแม้สาธารณชนในระดับสากลและภายในประเทศบางส่วนจะมองว่าเป็นการทำให้ระบอบประชาธิปไตยชะงักลง
หรือที่คำพังเพยไทยเรียกว่า "ถอยหลังเข้าคลอง"
แต่คนส่วนหนึ่งในประเทศและนักวิชาการไม่น้อยที่ปรารภว่า
"บางครั้งก็ต้องจำยอมเสียอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต"
"ชะลอกลไกหรือพิธีการไว้ก่อน เพื่อรักษาหลักการ" บางคนกล่าวว่า
"ประชาธิปไตยของไทยถูกกัดกร่อนทำลายไปก่อนหน้านี้แล้ว"
และบางคนถึงกับอุปมาว่า
"ถอยหลังเข้าคลองยังดีกว่าเดินไปข้างหน้าแล้วจมน้ำตาย" ภายหลังการปฏิรูป
จึงต้องให้ความสำคัญแก่พัฒนาการเพื่อให้ประเทศไทยเป็นสังคมที่มีการปกครองใรนะบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
โดยที่ทั้งรูปแบบและสาระแห่งการปกครองนั้นสามารถตอบสนองคุณค่า (value)
ที่สำคัญของสังคมและยังประโยชน์สุขต่อประชาชนทุกระดับได้
เหตุการณ์สำคัญที่เป็นชนวนนำไปสู่การปฏิรูป
ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลที่เพิ่งถูกยึดอำนาจไป
ได้ถูกเพ่งเล็งจากสังคมอย่างหนัก
และถูกกล่าวหาด้วยความเคลือบแคลงสงสัยมาตลอดว่า
ได้พยายามผูกขาดอำนาจทำลายระบบการตรวจสอบถ่วงดุล
โดยการแทรกแซงครอบงำองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญและการแต่งตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งสำคัญในองค์กรอิสระ
ส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจตลอดจนคุกคามและแทรกแซงสื่อมวลชน
รวมทั้งมีการดำเนินการที่ส่อไปในทางทุจริต/ฉ้อราษฎร์บังหลวง
และมีผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างกว้างขวาง
ซึ่งอาจสรุปข้อกล่าวหาที่ค้างคาใจประชาชนในกรณีสำคัญได้ดังนี้
๐ การทุจริต/ผลประโยชน์ทับซ้อน
๐ การแปลงค่าสัมปทานโทรศัพท์มือถือให้เป็นภาษีสรรพาสามิต
๐
การแปลงธุรกิจดาวเทียมให้เป็นธุรกิจที่ได้รับการส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
๐ การก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิและกรณีเครื่องตรวจวัตถุระเบิด CTX
๐ โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า Airport Link
๐ การพยายามแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ไม่โปร่งใส
๐ กรณีการครอบงำกิจการโทรทัศน์เสรี
๐ การใช้อำนาจในทางมิชอบ
๐ การแต่งตั้งเครือญาติ/คนใกล้ชิดดำรงตำแหน่งข้าราชการระดับสูง
๐ การใช้วิธีการงบประมาณที่ไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา
เพื่อผลประโยชน์ในการสร้างคะแนนนิยมต่อรัฐบาล
๐
การใช้ตำแหน่งหน้าที่ในการเจรจากับต่างประเทศเพื่อเอื้อต่อประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง
(กรณีการปล่อยเงินกู้ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย)
๐
การใช้อำนาจทางกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และกรมสรรพากร
ในการตรวจสอบสถานะทางการเงินของผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล
๐ การละเมิดจริยธรรม/คุณธรรมของผู้นำประเทศ
๐ การขายสัมปทานดาวเทียมและสถานีโทรทัศน์ให้แก่ต่างชาติ
๐ การซื้อขายหุ้นของบุคคลในครอบครัวโดยไม่เสียภาษี
๐ การแทรกแซงระบบการตรวจสอบทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ
๐
การครอบงำวุฒิสภาซึ่งมีอำนาจในการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญต่างๆ
และการตรวจสอบการดำเนินการของฝ่ายบริหาร
๐ การแทรกแซงการแต่งตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
๐ ข้อผิดพลาดเชิงนโยบายที่นำสู่การละเมิดสิทธิเสรีภาพ
๐ กรณีฆ่าตัดตอนหรือทำวิสามัญฆาตกรรมในคดียาเสพติด
โดยมีผู้ถูกสังหารเป็นอันมาก
๐
การบริหารจัดการในเชิงนโยบายที่ผิดพลาดและไม่ชอบธรรมในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงใน
3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งแม้จะใช้เวลายาวนาน แต่ก็ไม่ทุเลาเบาบางลง
๐
การบ่อนทำลายความสามัคคีของคนในชาติและการเผชิญหน้าที่เสี่ยงต่อการใช้ความรุนแรง
๐
การปิดกั้นข้อมูลข่าวสารของกลุ่มที่จะตรวจสอบรัฐบาลหรือตัวนายกรัฐมนตรีเอง
และเปิดเฉพาะข้อมูลที่คัดสรรแล้ว
ทำให้ประชาชนไม่สามารถรับทราบความจริงทั้งหมด
๐
การจัดตั้งกลุ่มคนสนับสนุนเพื่อตอบโต้และมุ่งหวังให้เกิดการเผชิญหน้าที่เสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรงกับกลุ่มผู้ต่อต้านรัฐบาลโดยสันติ
ความพยายามในการหาทางออกเพื่อให้มีการแก้ไขในระบบ
๐ การชุมนุมประท้วงโดยสันติวิธีและปราศจากอาวุธ
๐
การให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อหาทางออกโดยบุคคลหลายฝ่ายที่ได้รับการยอมรับจากสังคม
๐ บทบาทของศาลในการผ่าทางตันทางการเมือง (ตุลาการภิวัฒน์)
เนื่องจากการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญไม่ได้ผล (คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่
8 พฤษภาคม 2549 ที่ให้การเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน 2549 เป็นโมฆะ
รวมทั้งคำพิพากษาของศาลอาญาเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2549
ที่ว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งมีความผิดเนื่องจากการใช้อำนาจโดยไม่ชอบในการจัดการเลือกตั้งวันที่
2 เมษายน 2549)
๐ พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พระราชทานแก่คณะผู้พิพากษาศาลปกครองสูงสุด และคณะผู้พิพากษาศาลฎีกาบางส่วน
เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549
หน้าที่
1 2
3 4
5 6 |