ข้อเท็จจริง
เกี่ยวกับการปฏิรูปการปกครองในประเทศไทย เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549
สภาพทางการเมืองก่อน
19 กันยายน 2549
ก่อนที่ทั่วโลกจะได้เห็นภาพของทหารถือปืนพร้อมกับรถถังประจำตามจุดสำคัญต่างๆ
ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล
ซึ่งถือกันว่าเป็นภาพของสถานการณ์ความไม่ปกติอย่างร้ายแรง
สำหรับสังคมประชาธิปไตยทั่วไป
แต่สำหรับประชาชนไทยแล้วต่างก็ได้เห็นหลายภาพหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ซึ่งแสดงถึงความไม่ปกติและส่อเค้าถึงการเผชิญหน้ากันด้วยความรุนแรงระหว่างคนในชาติ
การเลือกตั้งที่ผ่านมาเปรียบเสมือนภาพสะท้อนของการบรรลุถึง "รูปแบบ"
ของการปกครองแบบประชาธิปไตย เมื่อประชาชนได้รับ "โอกาส" ในการเลือกตั้ง
การได้รับเสียงสนับสนุนในการเลือกตั้งจำนวนมากให้เข้ามาเป็นรัฐบาลในรอบที่สอง
เมื่อมองอย่างผิวเผินดูเหมือนเป็นการแสดงให้เห็นความพึงพอใจของประชาชนต่อความสำเร็จในการบริหารประเทศในระดับหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลังของการบริหารประเทศรอบแรกมาจนถึงห้วงเดือนกันยายน
2549
เริ่มมีเสียงจากประชาชนที่แสดงถึงความสงสัยและไม่พอใจในการบริหารประเทศของรัฐบาลมากขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการเล่นพรรคเล่นพวกและแสวงประโยชน์ให้กับพวกพ้องและบริวารอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
การแต่งตั้งเพื่อนและเครือญาติให้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในระบบราชการ
ในขณะที่องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญถูกทำให้อ่อนแอเกินกว่าจะป้องกันหรือแก้ไขปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวงที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางได้
ดังจะเห็นได้จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับ คณะกรรมการการเลือกตั้ง
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
และองค์กรหลักๆ อีกหลายองค์กร
ที่สำคัญอย่างยิ่งคือไม่มีพื้นที่เหลือให้สำหรับกลไกการตรวจสอบโดยรัฐสภาอย่างมีประสิทธิภาพตามระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
ผลการสำรวจประชามติของสำนักต่างๆ
แสดงถึงการเสื่อมความนิยมในรัฐบาลมาเป็นลำดับ
ภาพสะท้อนดังกล่าวยังเห็นได้จากการออกมาวิพากษ์วิจารณ์ของนักวิชาการ NGOs
และสื่อมวลชน
ความไม่พอใจที่สะสมเพิ่มพูนจนกลายมาเป็นการรณรงค์ต่อต้านรัฐบาลอย่างเปิดเผยทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด
จนนำไปสู่การยุบสภาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2549
ท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อแก้ไขจุดอ่อนเดิมที่ทำให้กลไกการคานอำนาจและการติดตามตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลไม่เข้มแข็งเพียงพอ
การดำเนินนโยบายความมั่นคงของรัฐบาล
มีความผิดพลาดอันเกิดจากความไม่เข้าใจปัญหาและการไม่ยอมรับฟังความเห็นของสังคม
ทั้งมีเจตนาใช้อำนาจรัฐจัดการกับปัญหาที่ปลายเหตุด้วยวิธีการที่รุนแรงและจนถูกกล่าวหาว่า
ไม่เป็นไปตามกฎหมายและหลักนิติธรรม
โดยเฉพาะกรณีการแก้ไขปัญหาสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้
และกรณีการปราบปรามยาเสพติดที่ส่งผลให้ความรุนแรงขยายตัวและเกิดเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายต่อหลายครั้งจนเป็นที่เสื่อมเสียต่อภาพพจน์ของประเทศ
ประเด็นสำคัญอันเป็นที่คลางแคลงใจอย่างยิ่งและส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของชาติที่เป็นรูปธรรมคือ
การกล่าวหาว่าผู้นำประเทศได้อาศัยช่องว่างทางกฎหมายและใช้อำนาจทางการบริหารแสวงประโยชน์ทุกด้านให้ตนเองและญาติมิตร
ทั้งที่ผู้นำประเทศน่าจะเป็นเสาหลักในการบริหารแบบมีธรรมาภิบาลและแก้ไขช่องว่างทางกฎหมายที่เอื้อต่อการแสวงประโยชน์โดยมิชอบ
ทำให้ศรัทธาของประชาชนต่อผู้บริหารประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง การยึดอำนาจ 19
กันยายน และสามสิบวันต่อมา
เมื่อเวลาพลบค่ำของวันอังคารที่ 19
กันยายน 2549
ประชาชนที่เลิกงานและสัญจรอยู่บนท้องถนนในกรุงเทพมหานครสังเกตเห็นความเคลื่อนไหวบางอย่างที่ผิดปกติ
เช่น มีการเคลื่อนย้ายกำลังทหารบางส่วน รถถังเคลื่อนมาจอดตามจุดต่างๆ เช่น
หน้าทำเนียบรัฐบาล ลานพระบรมรูปทรงม้า
และถนนราชดำเนินกลางอันเป็นถนนสายหลักที่ตั้งของส่วนราชการหลายแห่ง
ประชาชนหลายคนโบกมือให้ทหารตามสี่แยกและที่ยืนอยู่หน้ารถถังทหารเหล่านั้นยิ้มให้
บางคนโบกมือตอบ
ความเคลื่อนไหวเริ่มผิดสังเกตมากขึ้นเมื่อสถานีวิทยุโทรทัศน์บางแห่งงดออกอากาศแพร่ภาพรายการปกติ
หันมาแพร่ภาพพระราชกรณียกิจเปิดเพลงมาร์ช เพลงปลูกใจ
และเพลงพระราชนิพนธ์ต่อเนื่องกัน
ตั้งแต่เวลาประมาณ 21.00 น.
เริ่มมีการอ่านประกาศ คำสั่ง
และแถลงการณ์ของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
สรุปความได้ว่า บัดนี้ คณะดังกล่าวซึ่งประกอบด้วยผู้บัญชาการทหารสูงสุด
ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ
และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ยึดอำนาจการปกครองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 วุฒิสภา สภาผู้แทนราษำร
คณะรัฐมนตรี และศาลรัฐธรรมนูญเป็นอันสิ้นสุดลง ส่วนคณะองคมนตรี และศาลอื่นๆ
ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ให้ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร
บรรดากฎหมายต่างๆ ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไป
เว้นแต่จะมีประกาศให้ยกเลิกหรืองดใช้บางส่วน ให้ทหารและตำรวจไปรายงานตัว ณ
ต้นสังกัด
ส่วนหัวหน้าส่วนราชการฝ่ายพลเรือนไปรายงานตัวต่อหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ในกรณีที่อยู่ต่างจังหวัด ให้รายงานตัวต่อแม่ทัพภาคให้ปลัดกระทรวงต่างๆ
ซึ่งเป็นข้าราชการประจำ
เป็นผู้ใช้อำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงไปพลางก่อน
ขออย่าให้ผู้ใช้แรงงาน ชาวนา ชาวไร่
เคลื่อนไหวเรียกร้องหรือก่อความไม่สงบเรียบร้อย
ห้ามมั่วสุมประชุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป พรรคการเมืองต่างๆ
ยังคงมีอยู่ แต่ให้งดการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองไว้ก่อน
ห้ามกักตุนสินค้าหรือขึ้นราคาสินค้าทุกประเภท
และได้เรียกร้องให้ประชาชนร่วมแรงร่วมใจกันฟื้นฟูชาติบ้านเมือง
ฟื้นฟูความสามัคคี นำความสงบสุขกลับคืนสู่ประเทศชาติ
พร้อมกันนี้ก็ยืนยันว่า จะยึดมั่นในกฎบัตรสหประชาชาติ และพัฯธกรณีตามสนธิสัญญาหรือข้อตกลงที่ทำไว้กับนานาประเทศภายใต้หลักเกณฑ์แห่งความเสมอภาคโดยเคร่งครัด
รวมทั้งจะส่งเสริมและรักษาไว้ซึ่งความสัมพันธ์ที่มีอยู่กับต่างประเทศ
ตลอดจนให้การคุ้มครองชาวต่างประเทศ คณะทูตานุทูตกงสุล สถานเอกอัครราชทูต
และองค์การระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย
เพื่อเป็นการยุติความเคลื่อนไหวต่างๆ
ที่ไม่จำเป็นและเพื่อป้องกันมิให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหรือฉกฉวยโอกาสไม่ว่าจากฝ่ายใด
ตลอดจนเพื่อประโยชน์ในการซักซ้อมความเข้าใจในวิธีปฏิบัติเรื่องต่างๆ
คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจึงมีคำสั่งให้วันพุธที่
20 กันยายน 2549 เป็นวันหยุดราชการ
ต่อมาได้มีการออกประกาศและคำสั่งอีกหลายฉบับเพื่อจัดระเบียบการปกครองในช่วงเวลาที่เกิดช่องว่าง
ไม่มีรัฐสภา และไม่มีรัฐบาลบริหารราชการแผ่นดิน
โดยยึดหลักพึงปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่าที่จำเป็น เพียง 12 วัน
หลังการยึดอำนาจ มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 แทนรัฐธรรมนูญที่ถูกยกเลิกไป ในวันที่ 1
ตุลาคมเดียวกันนั้นเอง
และปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ก็ได้สลายตัวไปทำหน้าที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ
ซึ่งมีอำนาจหน้าที่จำกัดเฉพาะเรื่องทางพิธีการที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวกำหนด
โดยไม่มีอำนาจในการออกกฎหมาย อำนาจในการบริหารประเทศ
และอำนาจในการพิจารณาวินิจฉันคดีแต่อย่างใด
รวมทั้งไม่มีอำนาจสั่งใช้มาตรการพิเศษเด็ดขาดใดๆ ดังที่เคยรู้จักในนามของ
"มาตรา 17" เพื่อระงับยับยั้งภยันตรายที่อาจมีมา
อันเป็นอำนาจพิเศษที่เคยปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวภายหลังการยึดอำนาจทุกฉบับที่ผ่านมาในรอบเกือบห้าสิบปี
นอกจากนั้น ในวันเดียวกัน
ก็ได้มีประกาศพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พลเอก สุรยุทธ์
จุลานนท์ องคมนตรี ข้าราชการบำนาญ อดีตผู้บัญชาการทหารบก
ผู้บัญชาการทหารสูงสุด วัย 64 ปี
ผู้มีชื่อเสียงเกียรติคุณเป็นที่ยอมรับในด้านความซื่อสัตย์สุจริต
ความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว
การดำเนินชีวิตที่ประหยัด เรียบง่าย
ความสนใจในธรรมชาติและการนำธรรมะมาใช้ในการดำเนินชีวิตขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่
24 ตามคำกราบบังคมทูลของประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ
ต่อมานายกรัฐมนตรีได้เลือกสรรผู้มีความรู้ความสามารถอีก 26 คน เาดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีโดยเป็นพลเรือนทั้งหมด
ประกอบด้วยผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งสำคัญในภาครัฐ เช่น
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ปลัดกระทรวง เอกอัครราชทูต
อธิการบดีมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ ประธานศาลฎีกา อธิบดี อาจารย์
ส่วนที่เป็นภาคเอกชนก็ล้วนแต่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจและมีประสบการณ์ในด้านรัฐสภาหรือการบริหารราชการแผ่นดินมาบ้างแล้ว
และที่เป็นอีดตข้าราชการทหารมีเพียง 2 คน
เมื่อเสร็จภารกิจด้านการวางโครงสร้างการบริหารประเทศในด้านบริหาร
ก็ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
รวม 242 คน จากบุคคลหลากหลายสาขาอาชีพ หลากหลายความรู้ และหลากหลายภูมิภาค
เช่น นักวิชาการผู้ทำงานด้านสังคม นักต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ
ผู้เคยทำงานด้านการเมือง การบริหารตุลาการ ข้าราชการตำรวจ ทหาร พลเรือน
นักธุรกิจ นายธนาคาร เกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน สื่อมวลชนแขนงต่างๆ นักการศาสนา
แพทย์ ครู ทนายความ คนพิการ ศิลปิน เป็นต้น
เพื่อทำหน้าที่ออกกฎหมายในรูปของพระราชบัญญัติ
ควบคุมการทำงานของรัฐบาลโดยการตั้งกระทู้ถาม
และเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินแก่รัฐบาล
ตลอดจนเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจัดทำขึ้นเพื่อประกอบการพิจารณาในการปรับปรุงหรือแก้ไขเพิ่มเติม
ในด้านตุลาการ ศาลยุติธรรม
ศาลปกครอง และศาลทหาร ยังคงทำหน้าที่ต่อไปตามปกติ
และแม้ในช่วงเวลาที่ควรเป็นช่องว่างเช่นนี้
ผู้เกี่ยวข้องยังคงสามารถฟ้องร้องหรือนำคดีไปสู่องค์กรที่ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อให้พิจารณาวินิจแยหรือมีการตรวจสอบว่า
กฎหมายใดขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ได้เป็นปกติอีกด้วย อำนาจพิจารณาวินิจแยดังกล่าวนี้
ในต่างประเทศเรียกว่า "Power of Judicial Review of the Constitutionality
of the law" ส่วนองค์กรที่ว่านั้น คือ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ซึ่งประกอบด้วยประธานาศาลฎีกาเป็นประธาน
ประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นรองประธาน
ผู้พิพากษาในระดับไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเลือกห้าคน
และตุลาการในศาลปกครองสูงสุดซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดสองคน
โดยสรุป องค์ประกอบ อำนาจหน้าที่ และความน่าเชื่อถือของสถาบันนี้
จึงไม่แตกต่างไปจากมาตรฐานในนานาประเทศที่ยอมรับให้มีระบบการตรวจสอบโดยศาลว่า
กฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
การที่ยังคงมีระบบการตรวจสอบดังกล่าว แม้เป็นช่วงเวลาพิเศษเช่นนี้
แสดงว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชนยังได้รับความคุ้มครอง
ข้อนี้ถ้าผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับกฎหมายได้ตรวจดูจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวแล้ว
อาจไม่พบว่ามีการคุ้มครองดังกล่าว
แต่หลักประกันข้อนี้ปรากฏอยู่ถึงสามแห่งในรัฐธรรมนูญที่มีบทบัญญัติเพียงไม่กี่มาตรา
แห่งแรกคือ คำปรารภอันเป็นเสมือนเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ว่า
"จำเป็นต้องกำหนดกลไกทางปกครองที่เหมาะสมแก่สถานการณ์เพื่อใช้ไปพลางก่อน
โดยคำนึงถึงหลักนิติธรรมตามประเพณีการปกครองของประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข...การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน"
แห่งที่สองคือ บทบัญญัติในมาตรา 3 ที่ว่า
"ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
สิทธิเสรีภาพ
และความเสมอภาคบรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
และตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว
ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้" และแห่งที่สามคือบทบัญญัติในมาตรา
38 ที่ว่า "ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด
ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"
เป็นที่เข้าใจได้ว่าเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพขั้นมูลฐานในระบอบประชาธิปไตย
เช่น เสรีภาพในการนับถือศาสนา เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
สิทธิเสรีภาพในชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน
สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม
ตลอดจนสิ่งที่เรียกกันในภาคพื้นยุโรปว่า "The Rule of Law"
หรือที่ในสหรัรฐอเมริกา รู้จักกันในนามของ "Due Process of Law"
จนแม้แต่ความถูกต้องตามทำนองคลองธรรมที่เรียกว่า "Natural Justice"
ซึ่งบางครั้งมีความหมายยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนตามตัวบทกฎหมายสิ่งเหล่านี้จะได้รับการคุ้มครองและปฏิบัติตามเสมือนหนึ่งเมื่อก่อนวันที่
19 กันยายน 2549 ทุกประการ
ในส่วนของการจัดทำรัฐธรรมนูญซึ่งน่าจะเป็นภารกิจยิ่งใหญ่และมีความสำคัญมากที่สุด
เพราะเป็นการวางกลไกกติกาการปกครองประเทศใกนารปฏิรูปการเมืองเพื่อความมั่นคงสถาพรของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในอีกประมาณไม่เกินหนึ่งปีข้างหน้านี้
การดำเนินการในเรื่องนี้ได้กำหนดให้ประชาชนมีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมทุกขั้นตอนยิ่งกว่ากระบวนการจัดรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์การเมืองเกือบ
75 ปีของไทย ในขั้นตอนแรก
เมื่อยังไม่สามารถจัดหาสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงได้
ก็ใช้วิธีให้ประชาคมกลุ่มต่างๆ
เช่นองค์กรอาชีพที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายทุกอาชีพ องค์กรด้านสาธารณประโยชน์
พรรคการเมือง แรงงาน สังคม ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรนิสิตนักศึกษา
องค์กรปกครองท้องถิ่น องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ วงการวิชาการ
วงการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย วงการพัฒนาชุมชนด้านสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม
การสงเคราะห์ การคุ้มครองผู้บริโภค วงการศาสนา
ศิลปวัฒนธรรมและผู้เคยมีประสบการณ์ในการร่างรัฐธรรมนูญจากทั่วประเทศ
เลือกผู้แทนกันเองมาประกอบกันขึ้นเป็นสมัชชาแห่งชาติ มีสมาชิกจำนวนไม่เกิน
2,000 คน ทำนองเดียวกับที่เคยมีพระบรมราชโอกงารโปรดเกล้าฯ
แต่งตั้งสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ จำนวน 2,231 คน หรือที่รู้จักในนามของ
"สภาสนามม้า" มาแล้วเมื่อ พ.ศ.2516
สมาชิกสมัชชาแห่งชาติจะประชุมและคัดเลือกกันเองอีกครั้งให้ได้จำนวน 200 คน
แล้วเสนอให้ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติคัดเลือกจากจำนวนนี้ให้เหลือก
100 คน เพื่อเป็นสมาชิกร่างรัฐธรรมนูญในระหว่างการจัดทำรัฐธรรมนูญ
ประชาชนยังมีส่วนร่วมด้วยการวิพากษ์วิจารณ์เสนอข้อคิดเห็นต่างๆ ได้
และเมื่อถึงขั้นสุดท้ายก่อนจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย
แม้สภาร่างรัฐธรรมนูญจะให้ความเห็นชอบแล้วก็ยังต้องให้ประชาชนทั่วประเทศมีส่วนร่วมอีกครั้งหนึ่ง
ด้วยการนำร่างรัฐธรรมนูญออกให้ประชาชนออกเสียงแสดงประชามติว่า
จะเห็นชอบหรือไม่ อันจะเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกของประเทศไทย
หน้าที่ 1
2
3 4
5 6 |