หรือที่เราเรียกกันตามภาษาชาวบ้านว่า ประสานงานหรือประสานงา แล้วแต่จะเรียก ซึ่งในลักษณะการชนแบบนี้ ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีใครยอมรับว่าเป็นฝ่ายผิด ต่างก็อ้างว่าตนเองเป็นฝ่ายถูกเสมอ ดังนั้นจะต้องรอคอยให้ตำรวจมาดูสถานที่เกิดเหตุ และสอบสวนความจริงให้กระจ่างว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายถูกหรือฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดกันแน่ คำวินิจฉัยของตำรวจในกรณีเช่นนี้ ส่วนใหญ่ศาลจะเชื่อสำนวนคำให้การของเจ้าพนักงานตำรวจ เว้นแต่เราจะได้พิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าฝ่ายเราเป็นฝ่ายถูกหรือต่างฝ่ายต่างประมาททั้งคู่ ซึ่งก็มีเหมือนกันที่ศาลเห็นแย้งกับความเห็นของตำรวจ แต่ก็น้อยมาก ดังนั้น หากมีการเฉี่ยวชนกันในลักษณะนี้เกิดขึ้น เราต้องพยายามถ่ายรูปภาพสถานที่เกิดเหตุ ลักษณะการเฉี่ยวชนกันหรือทิศทางการหันหน้ารถหลังจากเกิดเหตุเป็นในลักษณะใด รอยเบรคเป็นอย่างไรยาวขนาดไหน เพื่อจะได้คำนวนความเร็วของรถก่อนจะชนได้ ถ่ายรูปให้มากที่สุดไม่ต้องกลัวฟิล์มเปลือง พร้อมทั้งพยายามที่จะวาดภาพแผนที่เกิดเหตุคร่าวๆไว้ด้วย เพื่อจะได้ทบทวนความจำในกรณีที่ต้องเบิกความในชั้นพิจารณาคดีของศาล หากตกลงกันไม่ได้ จะได้ไม่ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง และหากศาลเชื่อคำเบิกความของเราคดีของเราก็มีโอกาสชนะได้ เหตุที่ต้องถ่ายรูปภาพในลักษณะต่างๆก็เพราะว่า พยานหลักฐานบางอย่างอาจเปลี่ยนแปลงในภายหลังได้ แต่ภาพที่ปรากฏในรูปภาพขณะที่เกิดเหตุนั้น จะเป็นภาพสดๆที่เกิดขึ้น โดยจะไม่ใครสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงในภายหลังได้ หากมีผู้เห็นเหตุการณ์ก็ต้องจดชื่อที่อยู่พยานเก็บไว้ด้วย เพื่อเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายเรา หากต้องมีการฟ้องร้องดำเนินคดีกันในภายหลัง เราจะได้มีพยานหลักฐานไว้สู้คดีกับอีกฝ่ายหนึ่งได้ ไงล่ะจ๊ะ
แต่ข้อสำคัญที่ต้องนึกคิดไว้เสมอว่า การชนกันดังกล่าวเกิดจากการชนกันในลักษณะอุบัติเหตุหรือไม่ เป็นการจงใจชนหรือไม่ และทุกครั้งที่เกิดการเฉี่ยวชนกัน ต้องระลึกเสมอว่า สิ่งแวดล้อมในบริเวณดังกล่าวเป็นสถานที่อย่างไร เปลี่ยวหรือไม่ และเกิดเหตุในเวลากลางวันหรือกลางคืน หากไม่แน่ใจให้รีบออกจากสถานที่เกิดเหตุโดยเร็ว และรีบไปแจ้งเหตุที่สถานีตำรวจที่ใกล้ที่สุด มีบางกรณีเช่นกันพอขับรถเฉี่ยวชนกันเสร็จแล้วตกใจ รีบหนีกลับไปตั้งหลักอยู่ที่บ้าน ซึ่งในกรณีเช่นนี้ ตามกฎหมายถือว่า ชนแล้วหนี และโดยกฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ใดชนแล้วหนีถือว่าเป็นผู้ผิด แม้ว่าเราจะเป็นฝ่ายถูกก็ตาม แต่เมื่อกฎหมายสันนิษฐานว่าเป็นผู้ผิด โอกาสที่จะมาพิสูจน์ว่าตนเองเป็นฝ่ายถูกก็ค่อนข้างยากมากๆ เพราะกฎหมายให้โอกาสแล้วแต่ไม่ปฏิบัติตาม เรียกได้ว่าตกใจจนเกินเหตุ ความซวยเลยมาเยือนโดยไม่ได้ตั้งใจ ฉะนี้แล ..
2.เรื่องของการเจรจาเรียกค่าเสียหาย
หลักของการเจรจาเรียกค่าเสียหายได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่าไว้ดังนี้ การเจรจาต้องควบคุมอารมณ์ตัวเองให้ได้ หากไม่สามารถที่จะควบคุมอารมณ์ของตัวเราได้ ก็ควรที่จะให้บุคคลภายนอกที่เราเชื่อถือได้เป็นคนเจรจาเรื่องค่าเสียหายแทนเราจะเป็นการดีที่สุด เพราะหากเราไม่สามารถที่จะควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้แล้ว โอกาสเรื่องจะยืดยาวบานปลายย่อมมีมากขึ้น เราต้องใช้หลักว่า เรื่องที่เกิดขึ้นได้เกิดขึ้นมาแล้ว ไม่มีทางที่จะกลับเป็นเรื่องที่ยังไม่เกิดได้ เพราะฉะนั้นเราต้องได้รับการชดเชยความเสียหายให้เร็วที่สุด หากการเจรจาเรื่องค่าเสียหายเป็นที่ยุติแล้ว ก็ให้รีบตกลงทำบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจโดยทันที เพื่อป้องกันการบิดพลิ้วในภายหลัง
และในการเจรจาเรื่องค่าเสียหายทุกครั้งพยายามที่จะไม่เจรจาอย่างคนรู้มาก ประเภทคนหัวหมอ เจ้าถ้อยหมอความ จะทำให้ตำรวจเจ้าของสำนวนมองไปว่าเราเป็นพวกเรื่องมาก ตำรวจก็จะไม่ช่วยเราเจรจาให้ เราก็ต้องใช้ความสามารถล้วนๆ ซึ่งก็ยากที่จะพูดอย่างไรให้เขาควักเงินขึ้นมาจ่ายให้เราได้ง่ายๆ เพราะเขาเองก็ย่อมได้รับความเสียหายเช่นกัน ดังนั้นการเจรจาพาทีก็ต้องอยู่ในเรื่องเหตุเรื่องผล เจรจาตามหลักความเป็นจริง ไม่เห็นแก่ได้ ไม่เอาเปรียบคู่กรณี และเจรจาด้วยจิตใจที่เป็นปกติ ประกอบกับเห็นใจเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกด้วยกัน ซึ่งการเจรจาด้วยดีเช่นนี้บางครั้งคู่กรณีอาจไม่เอาค่าเสียหายจากเราเลยก็มีเหมือนกัน เรียกตามภาษานักเลงว่า ขอกันกินมากกว่านี้ มีและมีแยะเสียด้วย อาจารย์เองก็เคยได้รับความกรุณาแบบนี้มาเหมือนกัน ประเภทขับขี่รถชนเขาแต่ไม่ต้องเสียตัง ..แฮ่ๆ สบายตัว
และหากการเจรจาในชั้นตำรวจไม่ประสบความสำเร็จ ก็ใช่ว่าจะหมดหนทางเสียทีเดียว เมื่อคดีความขึ้นสู่ศาลสถิตยุติธรรม ศาลก็จะไกล่เกลี่ยอีกชั้นหนึ่ง โดยศาลจะช่วยไกล่เกลี่ยก่อนการนำพยานเข้าสืบ และหากประสบความสำเร็จในขั้นตอนนี้ คู่ความทั้งสองฝ่ายก็ต้องทำสัญญาต่อหน้าศาล ซึ่งตามกฎหมายเรียกว่า การทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อศาล คดีก็จะเสร็จสิ้นได้เช่นกัน และในการดำเนินคดีในชั้นศาล ศาลจะส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไปให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งพร้อมทั้งได้แนบหนังสือขอไกล่เกลี่ยไปให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งด้วยสำหรับในคดีที่สามารถตกลงกันได้ หลายคดีก็เช่นกันที่ต่างคนต่างแรง พอเรื่องถึงศาล ศาลไกล่เกลี่ยแป๊บเดียว จบลงด้วยดีทั้งสองฝ่ายเลยก็มี เรียกได้ว่า แฮ๊ปปี้แอนดิ้ง ทูยู้ ทูยู ยู้ฮูๆ
ทีนี้ หากกรณีที่ไม่สามารถที่จะตกลงกันได้แน่ๆ เพราะต่างฝ่ายต่างแรง ไม่ยอมลดราวาศอก เพราะถือดีว่ามีเงินที่จะเสียค่าทนาย ก็ขอเชิญเรียกใช้บริการได้ทุกตรอกซอกซอย เพราะว่ามีสำนักงานทนายความยุบยับเต็มไปหมดทุกหนทุกแห่ง แต่ละแห่งแต่ละที่ก็มีลีลาสีสันแตกต่างกันไปแล้วแต่บุคคลิกทนายแต่ละคน แต่ทนายความทุกคนต้องการเงินค่าทนายความทั้งนั้น ก็ขอเชิญท่านที่เคารพเตรียมตัวเตรียมใจเสียเงินตามความประสงค์ของท่านได้ตามใจปราถนา เพราะว่าของฟรีไม่มีในโลกว่าอย่างนั้นเถอะ เมื่อต้องมีการฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาล ปัญหาต่อไปก็คือว่า จะเรียกค่าเสียหายอะไรกับฝ่ายที่ขับรถชนคนของเราหรือรถของเราได้บ้าง ตามกฎหมายก็ให้โอกาสเราที่จะเรียกค่าเสียหายได้ ดังต่อไปนี้ ถ้าต้องการ
2. ใช้ราคาทรัพย์สิน ในกรณีที่ไม่สามารถคืนทรัพย์สินให้เขาได้ ก็ต้องชดใช้ราคาทรัพย์สินให้แก่เขา แต่ไม่ใช่อยากได้ก็เอาเงินไปไม่อยากหาคืนให้ เพราะขี้เกียจหา อย่างนี้กฎหมายบอกว่า นอกจากจะใช้ราคาให้แก่เขาแล้ว ก็ต้องใช้ราคาพร้อมทั้งดอกเบี้ยในราคานั้นๆด้วยนะจ๊ะ เรียกว่าอยู่ดีไม่ว่าดี เป็นหนี้โดยไม่ตั้งใจ อย่างนี้ต้องมีดอกเบี้ยพวงท้ายเป็นของแถมด้วย ซึ่งกว่าจะใช้หนี้หมด ก็หน้ามืดแล้วมืดอีกว่างั้นเถอะ
3. นอกจากข้อ 1. และข้อ 2. แล้ว กฎหมายยังบอกอีกว่า ผู้เสียหายสามารถเรียกค่าความเสียหายอย่างใดๆ ได้อีกตั้งหลายๆอย่าง เช่น รถถูกชนแล้วไม่มีรถใช้ ต้องเช่ารถคนอื่นมาใช้ อย่างนี้ เรียกค่าเสียหายได้ หรือในกรณีที่มีนักธุรกิจใหญ่ จะรีบไปประมูลงาน ปรากฏว่าถูกชนจนไม่สามารถไปประมูลงานทัน ต้องรับประทานแห้ว ทั้งๆที่ในซองประมูลได้งานแน่ๆเพราะประมูลต่ำกว่าผู้อื่นทั้งหมดอย่างนี้ ก็สามารถเรียกค่าเสียหายได้ เรียกว่าใครชนเข้าถึงกับสลบเหมือด ให้หนี้ 5 ชาติก็ยังไม่หมด หรืออีกหลายๆกรณีที่เกิดขึ้นจากการชนแล้วเกิดผลกระทบจนทำให้เกิดความเสียหายอันเนื่องมาจากการชนกันครั้งนี้ เรียกค่าเสียหายได้หมด เพราะฉะนั้นถ้าไม่อยากยากจนด้วยความรวดเร็วล่ะก็ อย่าริอ่านซิ่งโดยไม่จำเป็นนะสหาย
4. กรณีทำให้เขาถึงตาย อย่างนี้เรียกว่า อภิมหาความซวย มาเยือนโดยไม่ได้ตั้งใจ ไม่เคยคิดแม้แต่น้อยนิดที่จะให้เกิดเรื่องขึ้นจริงๆเลย ใจเร็วไปนิดหน่อยแค่ 150 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น คนถูกชนก็ช่างกระไรแค่ชนเบาๆนิดหน่อยเท่านั้น ถึงกับลิ้นแลบเชียวหรือ .. สำออยจริงๆ หลายท่านคิดอย่างนี้ แต่ฝ่ายผู้เสียหายเขาไม่ได้คิดอย่างที่ท่านคิดเลย แม้แต่น้อย เขาคิดเยอะกว่าท่านมาก เขาคิดถึง ค่ารักษาพยาบาลก่อนตายเอย ค่าปลงศพเอย ค่าใช้จ่ายอื่นๆอันจำเป็นเอย ไหนจะค่าต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เอย และถ้าเกิดคนตายมีภาระต้องเลี้ยงดู พ่อแม่ที่แก่ชรา ( แก่ทันทีที่ถูกชน ) ลูกอีก 3 เมียอีก 4 ซึ่งตามกฎหมายเรียกว่า ค่าขาดไร้อุปการะ โอ๊ย .จะบ้าตาย ไม่รู้ว่าจะเรียกร้องอะไรกันนักกันหนาก็ไม่รู้ เวลาเราชนเขาเราก็บ่นอย่างนี้แหละครับ แต่ถ้าเขาชนเราเมื่อไหร่ล่ะก็ นอกจากเรียกแบบนี้แล้ว ยังเรียกเพิ่มเข้าไปอีกเป็นกระตั๊กๆ ( ไม่รู้ว่าคิดได้อย่างไร ทนายบอกว่า ..คุณพี่กฎหมายไม่มีให้เรียกได้หรอกค่าเสียหายแบบนี้น่ะ ก็ยังเถียงทนายคอเป็นเอ็นว่า ..มี .มีกฎหมายว่าไว้ ..กฎหมายให้เรียกได้ เฮ้อ .เหนื่อย ..ทนายก็เลยไม่อยากเถียง ..รอรับเงินค่าทนายดีกว่า .สบายกว่ากันเยอะเลย ) ที่ว่ามานี่ยังมีค่าเสียหายตามกฎหมายที่ยังสามารถให้ผู้เสียหายเรียกร้องได้อีก ยังไม่หมดนะครับ ยังเรียกได้อีกเยอะเลย เช่น ทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกาย แขนหลุด ขาขาด ฟันกระเด็นไม่อยู่ในช่องปาก ลูกตาหลุดกระเด็นกระดอนเป็นลูกปิงปอง ไม่อยู่ในที่ที่ควรจะอยู่ หรืออวัยวะส่วนสำคัญที่สุดของความเป็นชายขาดหายไป หาไม่ได้อีกแล้ว ตัดโปะอย่างไรก็ไม่มีทางดีดังเดิมได้ ดังที่ยกตัวอย่างมานี้ ตามภาษากฎหมายเขาเรียกว่า ทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกาย และยังมีความเสียหายที่ทำให้เขาเสียหายแก่ อนามัย หน้าเสียโฉมอย่างติดตัว ไปไหนมาไหนก็อับอายขายหน้า เป็นไอ้หน้าบากไปตลอดทั้งชาติ อย่างนี้ เรียกได้หมด รวมทั้งค่าเสียความสามารถประกอบการงานสิ้นเชิง หรือเป็นบางส่วน ประเภทชั่วครั้งชั่วคราวในระหว่างพักรักษาตัว ขาดรายได้ไปเท่าไหร่ ก็เรียกค่าเสียหายได้กฎหมายไม่ได้ห้ามไว้ หรือถ้าผู้ที่ถูกชนเป็นบุคคลสำคัญในครัวเรือนหรือในโรงงานอุตสาหกรรม ที่ต้องมีบุคคลคนๆนี้เท่านั้น ที่งานที่ครัวเรือนหรือที่โรงงานจะสามารถดำเนินงานหรือทำการต่อไปได้ แต่ถูกชนเสียลิ้นแล๊บ จนไม่สามารถทำการงานได้ ก็ต้องชดใช้ค่าเสียหายในส่วนนี้ให้แก่บุคคลภายนอก ที่เขาต้องขาดแรงงานนั้นไปด้วย หรือทำให้เขาต้องเสียเสรีภาพ เช่น เลิกเรียนหรือเลิกทำงานแล้ว เขาก็อยากกลับบ้านพักผ่อน แต่เราไม่ให้เขากลับไปกักไปขังเขา ไปทำมิดีมิร้ายเขา โดยเขามิได้มีความพร้อมใจที่จะมีสัมพันธ์ด้วย หรือไม่เต็มใจไปด้วย อย่างนี้กฎหมายบอกว่าเรียกค่าเสียหายแก่ร่างกายได้ เพราะทำให้เขาต้องเสื่อมเสียเสรีภาพได้เช่นกัน หรือพอได้เขาแล้วก็เที่ยวไปป่าวประกาศให้หญิงต้องอับอายขายหน้าว่า คนนี้เหรอฉับๆ .มาแล้ว หญิงรู้เข้าก็อับอายขายหน้า ไม่รู้ว่าจะเอาหน้าไปไว้ที่ไหน ( ก็เอาไว้อยู่บนคอนั่นแหละ) อุตส่าห์ไม่เอาเรื่องแล้ว ยังปากเสียอีก อย่างนี้หญิงก็ฟ้องเรียกค่าเสียหายที่ ทำให้เขาเสียหายแก่ชื่อเสียง ได้ กฎหมายเขาก็มีไว้ให้ลงโทษบุคคลประเภทปากไม่สร้างสรรค์ไว้เหมือนกัน ครับ โดยเปิดช่องไว้เพื่อให้ผู้เสียหายสามารถเรียกค่าเสียหายแก่ชื่อเสียงได้ เห็นหรือยังครับว่า การเรียกร้องค่าเสียหายในผลแห่งการกระทำนั้น ทำได้ ตั้งหล้ายหลายอย่าง .จนจำไม่หวาดไม่ไหว ( .เฮ้อ บรรยายเรื่องรถชนกันดีๆ แท้ๆ กลับไปเรื่องละเมิดเรียกค่าเสียหายไปได้ ขออภัยนะครับ...อาจารย์เผลอไปหน่อย .เพราะพูดเรื่องนี้ทีไร ลมมันขึ้นทุกที ..ก็ถือว่าเป็นของแถมประดับความรู้ไปนะครับ ) เอาทีนี้มาว่ากันต่อไปนะครับ ทั้งหมดทั้งปวงที่อาจารย์สาธยายมานี้ก็คือ ค่าเสียหายที่เราสามารถเรียกร้องที่เราสามารถเรียกร้องได้ตามกฎหมาย ซึ่งเมื่อเราฟ้องศาลแล้ว ศาลท่านก็จะให้ความกรุณาเป็นพิเศษ แต่จะพิพากษาให้ตามควรแก่พฤติการณ์ และความร้ายแรงของความเสียหายเป็นรายกรณีๆไป ไม่ได้พิพากษาให้เราเต็มตามจำนวนทุนทรัพย์หรือความเสียหายที่เราเรียกมาในคำฟ้องหรอกครับ แต่ก็มีบางคดีเหมือนกันในคดีที่อาจารย์เคยฟ้องไปแล้วศาลพิพากษาให้เต็มตามที่ฟ้องเลยก็มี จนคู่กรณีต้องแอบมาติดต่อขอเจรจาหนี้นอกรอบไม่ยอมให้ทนายรู้ เพื่อขอลดยอดหนี้ชดใช้ค่าเสียหายให้กับฝ่ายผู้เสียหาย พอตกลงกันได้พร้อมทั้งจ่ายเงินจ่ายทองให้แก่กันและกันเรียบร้อย ไม่ยักกะนึกถึงทนาย พากันหายซับหายสอย ไม่มาขอบอกขอบใจทนายที่ช่วยให้คดีชนะ แถมไปไม่ไปเปล่านะครับ ยังอุตส่าห์เอาค่าทนายส่วนที่เหลือไปด้วย ทนายก็รอแล้วรอเล่า รอให้มาขอบอกขอบใจ...จนกระทั่งบัดนี้ก็ยังไม่มาขอบใจ ..เฮ้อ .คนไม่มีน้ำใจ .คนใจดำ
ทีนี้เมื่อเราต้องเลือกที่จะต้องดำเนินคดีในการเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหาย อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ขอให้จดจำ อายุความ ในการดำเนินคดีด้วยนะครับว่า สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายนั้น ขาดอายุความเมื่อพ้น ปีหนึ่ง นับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะต้องใช้ค่าเสียหาย กฎหมายว่าไว้อย่างนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าจะฟ้องร้องดำเนินคดีก็ต้องฟ้องร้องเสียก่อนพ้นปีหนึ่ง นับแต่วันเกิดเหตุ แต่บางครั้ง เมื่อความผิดเกิดแล้ว ก็ยังไม่รู้ว่าใครเป็นคนทำ เพราะพอเกิดเรื่อง มันก็หายตัวไปเลย .เผ่นแนบ ไม่เห็นหน้าค่าตาว่าเป็นผู้ใด .หล่อเหลาเอาการขนาดไหน คงจะคิดในใจว่า หลังจากหนึ่งปีไปแล้วค่อยย้อนกลับมาปรากฏกาย เพราะว่าคดีขาดอายุความแล้ว ไม่สามารถฟ้องร้องมันได้ ตอนนี้ขอหนีไปตั้งหลักก่อนอย่างนี้ ก็ต้องบอกกับมันว่า เสียใจด้วยนะไอ้หนู กฎหมายบอกว่า 1 ปีนั้นหมายความว่า นับแต่วันเกิดเหตุและรู้ตัวผู้ต้องชดใช้เท่านั้น แต่ในกรณีที่ยังไม่รู้ว่าใครเป็นคนที่ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้ กฎหมายบอกไว้ในตอนท้ายว่า 10 ปี นะจ๊ะอย่าลืม ประเภทฟังไม่ได้ศัพท์แล้วจับไปกระเดียด พอจับได้ก็เถียงคอเป็นเอ็นว่า .. ฟ้องได้ไง ฟ้องได้ไงคดีขาดอายุความแล้ว .. อย่างนี้ต้องฟ้องให้เข็ด เพราะอายุความ 10 ปี ไม่ใช่ 1 ปี นะจ๊ะ เพราะฉะนั้นจ่ายค่าเสียหายมาซะดีๆ ไม่มีทางรอด ว่าอย่างนั้นเถอะ ..สมน้ำหน้า หัวหมอเจอ .หัวบัณฑิตราชภัฎบ้าง . ใครจะแน่กว่ากัน ขอบอก เรื่องการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ถ้าจะบรรยายจริงๆแล้ว สามวันสี่คืนก็ไม่หมด ในชั้นนี้เอาแค่นี้ก่อนนะจ๊ะ เอาเรื่องที่น่าจะรู้เรื่องต่อไปบ้าง เป็นเรื่องที่ฝ่ายได้ที่รับความเสียหาย ได้รับโชค แต่ไม่ได้รับรางวัล เพราะว่าบุญมีที่เรามาพบกัน แต่กรรมมาบังเพราะฐานันดร์ศักดิ์มันต่างกัน ว่าอย่างนั้นเถอะ งงไหมล่ะ ไม่รู้ว่าอาจารย์พูดเรื่องอะไรใช่ไหม ก็เอาเป็นว่า ฟังคำอธิบายในหัวข้อต่อไปนะครับ ใจเย็นๆ .โยม..
[หน้าแรก] [รวมสาระ] [แสดงความเห็นในกระดานถามตอบ]
สภาทนายความภาค 6 www.lawsociety6.org
power by seal2th