ดินแดนปัญญาชน SEAL2thai.org

สามัญญลักษณะ

โดย ครูถวัลย์

   
 
   

 ดินแดนปัญญาชน

[หน้าแรก]

[รวมสาระ]

[webboard]

[คุรุชน]

ร่วมสนับสนุนเรา
โดยการทำ link
มาหาเรานะครับ

 เฟอร์นิเจอร์ไม้สัก
 
พรมลายน่ารัก
 
มะขาม
ขนมจีน

 ข้อสอบ o-net a-net
 สอบบรรจุครู

       
    
บ้านครูแชมป์ เรียนพิเศษในพิษณุโลก

         

 

 
 

 

ที่เรียกว่า ธรรมนิยาม แปลว่า บทนิยายของธรรม ซึ่งในที่นี้ได้แก่ ธรรมชาติ คำว่า นิยาม แปลว่า เครื่องกำหนด, ลักษณะทั้ง ๓ อย่างนี้ เป็นลักษณะเครื่องกำหนดให้ทราบได้ว่า เป็น กฏของธรรมชาติ ที่ปรากฏอยู่ในสิ่งทั้งปวง, เราควรจะกล่าวว่า สิ่งใดเป็นไปใน กฏทั้ง ๓ นี้ สิ่งนั้นควรเรียกว่า เป็นไปตามกฏของธรรมชาติ แต่เราไม่อาจ หรือ มีโอกาส ที่จะกล่าวข้อความประโยคนี้ เพราะว่า ไม่มีสิ่งใด ที่ไม่เป็นไปตามกฏนี้ ทุกสิ่งทุกอย่าง ที่มีเหตุปัจจัย ปรุงแต่ง ล้วนแต่เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวลักษณะทั้ง ๓ นี้ ว่า เป็น บทนิยามแห่งธรรม

ที่เรียกว่า ธรรมฐีติ ซึ่งแปลว่า การตั้งอยู่แห่งธรรมนั้น หมายความว่า การตั้งอยู่ หรือมีอยู่ หรือ ปรากฏอยู่ แห่งธรรมชาติทั้งปวงนั้น ไม่มีอะไรอื่น นอกจาก ความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อธิบายว่า ถ้าธรรม หรือ ธรรมชาติ อย่างใดอย่างหนึ่ง ตั้งอยู่ ตัวความตั้งอยู่ที่แท้จริงนั้น ก็คือ ความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั่นเอง กล่าวอย่างหนึ่ง ก็ว่า ถ้ามองเห็น ตัวธรรม หรือ ตัวธรรมชาติที่แท้ อย่างถูกต้อง และสมบูรณ์ ก็คือ การมองเห็น ความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั่นเอง

คำว่า อนิจจัง แปลว่า ความไม่เที่ยง ได้แก่ ความไม่หยุดอยู่ ในลักษณะเดียว แต่เปลี่ยนแปลงเรื่อย มีทางที่จะ กำหนดได้ ตั้งแต่ อย่างกว้าง หรือ อย่างหยาบที่สุด ลงมาจนกระทั่ง ถึงอย่างแคบ หรือ อย่างละเอียด ที่สุด ที่ว่า อย่างกว้างที่สุด ตัวอย่างเช่น การกำหนด ด้วยการเอา ยุคเป็นประมาณ เช่น ยุคหนึ่ง ดวงอาทิตย์นี้ไม่มี โลกนี้ไม่มี พระจันทร์นี้ไม่มี ครั้นมาถึง ยุคหนึ่ง ก็เกิดมี แม้ในยุค ที่เกิดมีขึ้นมาแล้ว ก็ยังแบ่งเป็นยุคๆ ย่อยลงไป ซึ่งเป็น เครื่องกำหนด ความเปลี่ยนแปลง ของโลกเรา จึงกล่าวได้ อย่างหยาบๆ ขั้นหนึ่งก่อนว่า สิ่งทั้งปวงไม่เที่ยง ครั้นมาถึง ยุคที่มีสิ่งที่มีชีวิต ก็ยิ่งเห็นได้ว่า ความเปลี่ยนแปลง ที่เป็นไปใน สิ่งที่มีชีวิต นั้น รวดเร็ว และ รุนแรง ยิ่งกว่าที่เป็นไปในสิ่งที่ไม่มีชีวิต เสียอีก ปัญหาที่ต้องสะสาง จึงมามีความสำคัญอยู่ที่สิ่งที่มีชีวิต ท่านจึงสอน ให้พิจารณาถึง ความไม่เที่ยง ของสิ่งที่มีชีวิต ซึ่งเป็นตัวเจ้าของปัญหา หรือ ตัวเจ้าทุกข์ โดยเฉพาะ เป็นส่วนสำคัญ, ความไม่เที่ยง ของคนเราคนหนึ่งๆ ท่านแนะนำ ให้พิจารณา อย่างหยาบๆ เป็นวัยๆ ไป คือ ปฐมวัย มัชฌิมวัย ปัจฉิมวัย หมายถึง การเป็นเด็ก เป็นผู้ใหญ่ และ เป็นคนแก่ชรา ซึ่งมีลักษณะ แห่งการเกิดขึ้น และปรากฏอยู่ชั่วคราว แล้วก็ตายไปในที่สุด ในที่บางแห่ง ท่านสอน ให้พิจารณา แคบเข้ามา โดยสมมุตว่า คนหนึ่งมีอายุ ๑๐๐ ปี แบ่งออกเป็น ๑๐ ระยะ ระยะเวลา ๑๐ ปี เรียกว่า ทสกะหนึ่งๆ เช่น ระยะแรก เรียก มัณททสกะ ตั้งแต่อายุ ๑-๑๐ ปี ก็มีลักษณะอย่างหนึ่ง ในเมื่อนำมา เปรียบเทียบกับ ทสกะที่ ๒ ที่ ๓ ต่อไป ทั้งนี้ เพื่อให้เห็นว่า ได้มีการแก่ชรา ไปตั้งแต่แรกเกิดมาทีเดียว เพราะมีลักษณะที่เปลี่ยนแปลง ไปสู่การแตกดับ อย่างเดียวเท่านั้น ถ้าให้แคบเข้ามากกว่านี้อีก เราก็อาจพิจารณาดู ด้วยตนเอง โดยกำหนด ระยะแห่งการพิจารณา ให้สั้นเข้าเป็น ปีหนึ่ง เดือนหนึ่ง หรือวันหนึ่ง เป็นต้น แล้วเปรียบเทียบกันดู ก็จะเห็นลักษณะ แห่งการเปลี่ยนแปลง ที่เรียกว่า อนิจจลักษณะนั้น ได้ละเอียดยิ่งขึ้นตามส่วน ที่ละเอียดยิ่งขี้นไปกว่านี้อีก ท่านแนะให้พิจารณา ในระยะสั้นกว่านั้น คือ ชั่วระยะเวลาที่คนเรามีความคิดเรื่องหนึ่ง เกิดขึ้นในใจ แล้วความคิดนั้นก็ดับไป จะเป็นเวลาสั้นยาวเพียงใดก็ตาม ก็กล่าวได้ว่า ไม่เหมือนกันสักระยะเดียว ในระยะที่ความคิดแรกเกิดขึ้น บุคคลนั้นก็มีลักษณะอย่างหนึ่ง ในระยะที่ความคิดกำลังดำเนินอยู่ บุคคลนั้น ก็มีลักษณะอีกอย่างหนึ่ง ครั้นความคิดนั้นดับไปแล้ว บุคคลนั้น ก็มีลักษณะ อีกอย่างหนึ่ง จึงเห็นได้ว่า ความเปลี่ยนแปลง ทั้งทางรูปธรรม และนามธรรม ของคน หรือ สัตว์นั้น มีอยู่ติดต่อกัน ไม่ขาดสาย และ ถี่มากเกินกว่า ที่เคยนึก เคยคิดกัน ความคิดเรื่องหนึ่งๆ ตั้งแต่ต้นจนจบ บางกรณี กินเวลาเพียง ๑ วินาที ก็ได้ เพราะฉะนั้น ในเวลาเพียง ๑ วินาที ความเป็น อนิจจัง ก็มีได้ ตั้งหลายระยะ ที่ละเอียด ยิ่งไปกว่านี้อีก ท่านสอน ให้พิจารณาถึง ขณะจิต ที่เกิดดับ อยู่อย่างถี่ยิบ จนเหลือที่ จะประมาณได้ ลักษณะแห่งการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ทยอยกันอยู่ในลักษณะ ที่คำนวณไม่ได้ว่า กี่หมื่น กี่พันครั้ง ใน ๑ วินาที ในครั้งหนึ่งๆ มี อนิจจลักษณะ ๓ ระยะ คือ ระยะแห่งการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และ ดับไป ฉะนั้น จึงเป็นอันว่า ในส่วนของจิตนั้น ย่อมประกอบอยู่ด้วย อนิจจลักษณะ คำนวณไม่ไหว ในวินาทีหนึ่งๆ แม้ในเรื่อง ทางฝ่ายวัตถุล้วนๆ วิชาการ แห่ง ยุคปัจจุบัน ก็ยอมรับว่า ความหมุนเวียน เปลี่ยนแปลง ของปรมาณูหนึ่งๆ ที่ประกอบกันขึ้น เป็นสสารต่างๆ นั้น มีรอบ แห่งความหมุนเวียน ในระยะ วินาทีหนึ่งๆ อย่างนับไม่ไหว เหมือนกัน เป็นอันกล่าวได้ว่า ทางฝ่ายรูปธรรมก็ดี ทางฝ่ายนามธรรมก็ดี มี อนิจจลักษณะ หรือ ความเป็นอนิจจัง ครอบงำ อยู่อย่างรุนแรง ควรจะเป็นที่ตั้ง แห่งความสลดสังเวช และ ความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด โดยแท้ 

หน้า 1  2  3

   

  counter power by www.seal2thai.org