เรื่องที่ควรทราบ อีกเรื่องหนึ่ง ในฐานะที่เป็น ทฤษฎีทั่วๆ
ไป เกี่ยวกับ เรื่องความทุกข์ ก็คือ เรื่อง สามัญญลักษณะ
ได้แก่ ลักษณะแห่ง ความไม่เที่ยง ๑ ความเป็นทุกข์ ๑
ความเป็นอนัตตา ๑ ของสังขารทั่วๆ ไป นอกจากจะเรียก
สามัญญลักษณะ แล้ว ยังเรียกว่า
ไตรลักษณ์ หรือ
ธรรมนิยาม หรือ
ธรรมฐีติ ได้อีก
ที่ว่า เป็นทฤษฎีเกี่ยวกับ เรื่องความทุกข์ นั้น หมายถึง
การที่ลักษณะทั้ง ๓ อย่างนี้ เป็นลักษณะที่ แสดงให้เห็นว่า
สิ่งทั้งปวงเป็นทุกข์ ทั้งในความหมายที่ว่า ทนทรมาน
ความหมายที่ว่า พิจารณาดูแล้ว น่าอิดหนา ระอาใจ และ
ความหมายที่ว่า ว่างอย่างน่าเกลียด ยิ่งกว่านั้น
ผู้ที่จะเบื่อหน่ายในความทุกข์ได้ ก็ต้องอาศัย การพิจารณา
ในลักษณะ เหล่านี้ ที่ผู้ปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ ก็คือ
ผู้ที่กำลังพิจารณา อยู่ในลักษณะเหล่านี้ ยิ่งๆ ขึ้นไป
เมื่อมีความเห็นแจ้งแทงตลอด ในลักษณะเหล่านี้แล้ว
ย่อมเกิดญาณ ซึ่งเป็นเครื่องทำลายอวิชชา และดับทุกข์ได้
เพราะฉะนั้นจึงถือว่า หลักธรรม เรื่อง สามัญญลักษณะ นี้
เป็นทฤษฎีทั่วๆ ไป เกี่ยวกับความทุกข์
ที่เรียกว่า
สามัญญลักษณะ หมายถึง ลักษณะที่สามัญ คือ ทั่วไป
แก่สังขารทั้งปวง ไม่ว่า สังขารที่ มีวิญญาณครอง หรือ
ไม่มีวิญญาณครอง ย่อมประกอบ อยู่ด้วย ลักษณะทั้ง ๓ นี้
ในฐานะเป็น กฏของธรรมชาติ สังขารทั้งหลาย จะมีลักษณะอื่น
ต่างกันอย่างไรก็ตาม แต่ต้องมีลักษณะ เหมือนกัน อย่างหนึ่ง
คือ ลักษณะ ที่กล่าวนี้ เพราะฉะนั้น จึงได้นามว่า สามัญญลักษณะ
คำว่า
สังขาร แปลว่า ปรุง (สัง = พร้อม + ขร = กระทำ)
ในที่นี้ หมายถึง สิ่งที่ถูกสิ่งอื่นปรุง และพร้อมกันนั้น
มันก็ปรุงสิ่งอื่นต่อไปอีก ตัวอย่างเช่น อาหารที่เรา
รับประทาน ย่อม ถูกปรุง จาก ธาตุต่างๆ ขึ้นด้วย อำนาจต่างๆ
แล้วตัวมันเอง ก็ปรุง สิ่งอื่นต่อไป เช่น ปรุง ร่างกาย
ของมนุษย์ และสัตว์ เป็นต้น ฉะนั้น ควรกำหนดให้ได้ว่า
สิ่งที่เรียกว่า สังขาร คือสิ่งที่ ถูกสิ่งอื่นปรุง
แล้วก็ปรุง สิ่งอื่นต่อๆไป พร้อมกัน ไปในตัว ใน
ขณะเดียวกัน, เปรียบเหมือนอิฐ ที่ซ้อนกันอยู่ หลายๆ
แผ่น อิฐแผ่นหนึ่ง ย่อมถูกหนุนอยู่ โดยอิฐอีกแผ่นหนึ่ง
พร้อมกันนั้น ก็ถูกทับอยู่โดย อิฐอีกแผ่นหนึ่ง เรียกว่า
เป็นไปในขณะเดียวกัน ฉันใดก็ฉันนั้น โดยเหตุที่สังขาร
เป็นสิ่งที่เพียงแต่ ถูกปรุงขึ้น ด้วยของหลายสิ่ง
มันจึงต้อง เปลี่ยนแปลง ไปตาม สิ่งที่ปรุงแต่งมันขึ้นมา
จึงเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ มันต้องชำรุด ทรุดโทรม
ไปตามการ ทรุดโทรม ของสิ่งที่ปรุงแต่งมัน และมีลักษณะ
ไม่เป็นตัวของตัวเอง เพราะถูกสิ่งอื่น ปรุงแต่งอยู่เรื่อย
ดังที่กล่าวแล้ว สังขารทั้งหลาย จึงมี
ลักษณะเปลี่ยนแปลง ที่เรียกว่า อนิจจาลักษณะ มี
ลักษณะแห่งการทนทรมาน ซึ่งเรียกว่า ทุกขลักษณะ และ
มีลักษณะแห่ง ความไม่เป็นตัวของตัว หรือ เป็นตัวของใครอื่น
เรียกว่า อนัตตลักษณะ ซึ่งเรียก รวมๆ กันว่า
ลักษณะที่ทั่วไป แก่สังขารทั้งปวง
ที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า
ไตรลักษณ์ นั้น ใช้เรียกกัน ในภาษาไทย
เพื่อความสะดวก แปลว่า ลักษณะ ๓ อย่าง ซึ่งหมายถึง
ลักษณะที่ กล่าวแล้วข้างต้น แต่ควรจะสังเกตว่า คำว่า ๓
อย่างในที่นี้ เป็นคำ บัญญัติเฉพาะ ซึ่งท่านหมายถึง
ลักษณะแห่ง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เท่านั้น
ควรจะจับใจความสำคัญ ให้ได้ว่า เพราะ ลักษณะทั้ง ๓ นี้
มีความสำคัญอย่างยิ่ง จึงยอมให้เอา จำนวนเลข ๓ นี้
ไปเป็นชื่อของ ลักษณะทั้ง ๓ นี้ โดยเฉพาะ เพราะฉะนั้น
ความหมาย ของคำว่า สาม จึงมิได้อยู่ที่ เพียงแต่เป็น
จำนวนนับ แต่มันไปอยู่ที่ ความสำคัญของ ลักษณะทั้ง ๓ นี้
นับว่าเป็นสิ่งที่ ควรสนใจอย่างยิ่ง โดยแท้จริง
ทำนองเดียวกับคำว่า แก้วสามดวง แต่เราหมายถึง พระพุทธ
พระธรรม พระสงฆ์ ฉันใดก็ฉันนั้น
หน้า 1 2
3