พระราชบัญญัติ
การศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ ๒)
พ.ศ. ๒๕๔๕
___________________
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๕
เป็นปีที่ ๕๗ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ
ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ
ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภาดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่
๒) พ.ศ. ๒๕๔๕"
มาตรา ๒
พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิกบทนิยามคำว่า "กระทรวง" ในมาตรา ๔
แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
"กระทรวง" หมายความว่า กระทรวงศึกษาธิการ"
มาตรา ๔ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ
พ.ศ.๒๕๔๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
"มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และมีอำนาจออกกฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศ
เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้"
มาตรา ๕ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๑ มาตรา 32มาตรา ๓๓ และมาตรา ๓๔
แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
"มาตรา ๓๑ กระทรวงมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริม
และกำกับดูแลการศึกษาทุกระดับและ
ทุกประเภท กำหนดนโยบาย แผน และมาตรฐานการศึกษา
สนับสนุนทรัพยากรเพื่อการศึกษาส่งเสริมและประสานงานการศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม
และการกีฬาเพื่อการศึกษา รวมทั้งการติดตามตรวจสอบ
และประเมินผลการจัดการศึกษาและราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวง
"มาตรา ๓๒
การจัดระเบียบบริหารราชการในกระทรวงให้มีองค์กรหลักที่เป็นคณะบุคคลในรูปสภาหรือในรูปคณะกรรมการจำนวนสี่องค์กร
ได้แก่ สภาการศึกษา คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน คณะกรรมการการอาชีวศึกษา
และคณะกรรมการการอุดมศึกษา
เพื่อพิจารณาให้ความเห็นหรือให้คำแนะนำแก่รัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรี
และมีอำนาจหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนด
มาตรา ๓๓ สภาการศึกษา มีหน้าที่
(๑) พิจารณาเสนอแผนการศึกษาแห่งชาติที่บูรณาการศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม
และกีฬากับการศึกษาทุกระดับ
(๒) พิจารณาเสนอนโยบาย แผน
และมาตรฐานการศึกษาเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามแผนตาม (๑)
(๓) พิจารณาเสนอนโยบายและแผนในการสนับสนุนทรัพยากรเพื่อการศึกษา
(๔) ดำเนินการประเมินผลการจัดการศึกษาตาม (๑)
(๕)
ให้ความเห็นหรือคำแนะนำเกี่ยวกับกฎหมายและกฎกระทรวงที่ออกตามความในพระราชบัญญัตินี้
การเสนอนโยบาย แผนการศึกษาแห่งชาติ และมาตรฐานการศึกษา
ให้เสนอต่อคณะรัฐมนตรี
ให้คณะกรรมการสภาการศึกษา ประกอบด้วย รัฐมนตรีเป็นประธาน
กรรมการโดยตำแหน่งจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนองค์กรเอกชน
ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนองค์กรวิชาชีพ
พระภิกษุซึ่งเป็นผู้แทนคณะสงฆ์
ผู้แทนคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ผู้แทนองค์กรศาสนาอื่น
และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่าจำนวนกรรมการประเภทอื่นรวมกัน
ให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นนิติบุคคล
และให้เลขาธิการสภาเป็นกรรมการและเลขานุการ
จำนวนกรรมการ คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการสรรหา การเลือกกรรมการ
วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่ง ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
มาตรา ๓๔ คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีหน้าที่พิจารณาเสนอนโยบาย
แผนพัฒนามาตรฐานและหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและแผนการศึกษาแห่งชาติ
การสนับสนุนทรัพยากร การติดตาม
ตรวจสอบและประเมินผลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน
คณะกรรมการการอาชีวศึกษามีหน้าที่พิจารณาเสนอนโยบาย แผนพัฒนา
มาตรฐานและหลักสูตรการ อาชีวศึกษาทุกระดับ
ที่สอดคล้องกับความต้องการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและแผนการศึกษาแห่งชาติ
การส่งเสริมประสานงานการจัดการอาชีวศึกษาของรัฐและเอกชน
การสนับสนุนทรัพยากร การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการอาชีวศึกษา
โดยคำนึงถึงคุณภาพและความเป็นเลิศทางวิชาชีพ
คณะกรรมการอุดมศึกษา มีหน้าที่พิจารณาเสนอนโยบาย แผนพัฒนา
และมาตรฐานการอุดมศึกษา
ที่สอดคล้องกับความต้องการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
และแผนการศึกษาแห่งชาติ การสนับสนุนทรัพยากร การติดตาม ตรวจสอบ
และประเมินผลการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา
โดยคำนึงถึงความเป็นอิสระและความเป็นเลิศทางวิชาการของสถานศึกษาระดับปริญญาตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งสถานศึกษาแต่ละแห่ง
และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง"
มาตรา ๖ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๗ มาตรา ๓๘ มาตรา ๓๙ และมาตรา ๔๐ แห่ง
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
"มาตรา ๓๗
การบริหารและการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ยึดเขตพื้นที่การศึกษา
โดยคำนึงถึงปริมาณสถานศึกษา จำนวนประชากร วัฒนธรรม
และความเหมาะสมด้านอื่นด้วย
เว้นแต่การจัดการศึกษาขึ้นพื้นฐานตามกฎหมายว่าด้วยการอาชีวศึกษา
ในกรณีที่เขตพื้นที่การศึกษาไม่อาจบริหารและจัดการได้ตามวรรคหนึ่ง
กระทรวงอาจจัดให้มีการศึกษาขั้นพื้นฐานดังต่อไปนี้เพื่อเสริมการบริหารและการจัดการของเขตพื้นที่การศึกษาก็ได้
(๑) การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับบุคคลที่มีความบกพร่องทางร่างกาย
จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ สังคม การสื่อสารและการเรียนรู้
หรือมีร่างกายพิการ หรือทุพพลภาพ
(๒)
การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานที่จัดในรูปแบบการศึกษานอกระบบหรือการศึกษาตามอัธยาศัย
(๓) การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับบุคคลที่มีความสามารถพิเศษ
(๔) การจัดการศึกษาทางไกล
และการจัดการศึกษาที่ให้บริการในหลายเขตพื้นที่การศึกษา
ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของสภาการศึกษา มีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดเขตพื้นที่การศึกษา
มาตรา ๓๘ ในแต่ละเขตพื้นที่การศึกษา
ให้มีคณะกรรมการและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
มีอำนาจหน้าที่การกำกับดูแล จัดตั้ง ยุบ รวม
หรือเลิกสถานศึกษาขั้นพื้นฐานในเขตพื้นที่การศึกษาประสาน
ส่งเสริมและสนับสนุนสถานศึกษาเอกชนในเขตพื้นที่การศึกษา
ประสานและส่งเสริมองค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่น
ให้สามารถจัดการศึกษาสอดคล้องกับนโยบายและมาตรฐานการศึกษา
ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาของบุคคล ครอบครัว องค์กรชุมชน
องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ
และสถาบันสังคมอื่นที่จัดการศึกษาในรูปแบบที่หลากหลายในเขตพื้นที่การศึกษา
คณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาประกอบด้วย ผู้แทนองค์กรชุมชน
ผู้แทนองค์กรเอกชน ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ผู้แทนสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพครู
ผู้แทนสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพบริหารการศึกษา ผู้แทนสมาคมผู้ปกครองและครู
และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา ศาสนา ศิลปและวัฒนธรรม
จำนวนกรรมการ คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการสรรหา
การเลือกประธานกรรมการและกรรมการวาระการดำรงตำแหน่ง
และการพ้นจากตำแหน่ง ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเป็นกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา
มาตรา ๓๙ ให้กระทรวงกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษา
ทั้งด้านวิชาการ งบประมาณ การบริหารงานบุคคล
และการบริหารทั่วไปไปยังคณะกรรมการ และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
และสถานศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาโดยตรง
หลักเกณฑ์และวิธีการกระจายอำนาจดังกล่าว
ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๔๐ ให้มีคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
สถานศึกษาระดับอุดมศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญา และสถานศึกษาอาชีวศึกษาของแต่ละสถานศึกษาเพื่อทำหน้าที่กำกับและส่งเสริม
สนับสนุนกิจการของสถานศึกษา ประกอบด้วย ผู้แทนผู้ปกครอง ผู้แทนครู
ผู้แทนองค์กรชุมชน ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ผู้แทนศิษย์เก่าของสถานศึกษา
ผู้แทนพระภิกษุสงฆ์และหรือผู้แทนองค์กรศาสนาอื่นในพื้นที่
และผู้ทรงคุณวุฒิ
สถานศึกษาระดับอุดมศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญาและสถานศึกษาอาชีวศึกษาอาจมีกรรมการเพิ่มขึ้นได้ทั้งนี้
ตามที่กฎหมายกำหนด
จำนวนกรรมการ คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการสรรหา
การเลือกประธานกรรมการและกรรมการวาระการดำเนินตำแหน่ง
และการพ้นจากตำแหน่ง ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ให้ผู้บริหารสถานศึกษาเป็นกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการสถานศึกษา
ความในมาตรานี้ไม่ใช้บังคับแก่สถานศึกษาตามมาตรา ๑๘ (๑) และ (๓)"
มาตรา ๗ ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา ๔๕
แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
"การกำหนดนโยบายและแผนการจัดการศึกษาของรัฐของเขตพื้นที่การศึกษาหรือขององค์กร
ปกครองส่วนท้องถิ่น ให้คำนึงถึงผลกระทบต่อการจัดการศึกษาของเอกชน
โดยให้รัฐมนตรีหรือคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา
หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับฟังความคิดเห็นของเอกชนและประชาชนประกอบการพิจารณาด้วย"
มาตรา ๘ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ
พ.ศ. ๒๕๔๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
"มาตรา ๕๑
ในกรณีที่ผลการประเมินภายนอกของสถานศึกษาใดไม่ได้ตามมาตรฐานที่กำหนดให้สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา
จัดทำข้อเสนอแนะ การปรับปรุงแก้ไขต่อหน่วยงานต้นสังกัด
เพื่อให้สถานศึกษาปรับปรุงแก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนด
หากมิได้ดำเนินการดังกล่าว
ให้สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษารายงานต่อคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
คณะกรรมการการอาชีวศึกษา หรือคณะกรรมการการอุดมศึกษา
เพื่อดำเนินการให้มีการปรับปรุงแก้ไข"
มาตรา ๙ ให้ยกเลิกในวรรคสองของมาตรา ๗๔
แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
"เพื่อให้การปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ในส่วนที่ต้องดำเนินการก่อนที่การจัดระบบบริหารการศึกษาตามหมวด
๕ ของพระราชบัญญัตินี้จะแล้วเสร็จ ให้กระทรวงศึกษาธิการ
ทบวงมหาวิทยาลัยและคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ
ทำหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวข้องแล้วแต่กรณี"
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ
เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายปฏิรูประบบราชการโดยให้แยกภารกิจเกี่ยวกับงานด้านศิลปะและวัฒนธรรม
ไปจัดตั้งเป็นกระทรวงวัฒนธรรม และโดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงการ
บริหารและจัดการศึกษาของเขตพื้นที่การศึกษา
ประกอบกับสมควรให้มีคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
ทำหน้าที่พิจารณาเสนอนโยบาย แผนพัฒนา มาตรฐานและหลักสูตรการอาชีวศึกษาทุกระดับที่สอดคล้องกับความต้องการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
และแผนการศึกษาแห่งชาติ สนับสนุนทรัพยากร ติดตามตรวจสอบ
และประเมินผลการจัดการอาชีวศึกษาด้วย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่มที่ ๑๑๙ ตอนที่ ๑๒๓ ก.
ลงวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๔๕. (หน้า ๑๖-๒๑)
--------------------------------------------------------------------------------
1
2 3
4 5
6 7
8 9
10 11
12
|