น่ารู้เรื่อง "ผะหมี"

 

 

 

ผะหมี : ความบันเทิงของปัญญาชน
ผ.ศ.สุรีย์ ไวยกุฬา
 

ตอนที่ 1 เล่าความ
   ข้าพเจ้าเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเดิมเป็นวิทยาลัยครูพิบูลสงคราม สังกัดโปรแกรมวิชาภาษาไทย คณะมนุษศาสตร์และสังคมศาสตร์ ใน ปี พ. ศ. 2523 เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโท สาขาการสอนภาษาไทยที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงเริ่มหาหัวข้อที่จะทำวิทยานิพนธ์ สนใจศึกษาเรื่องราวของผะหมีซึ่งถึงแม้ว่าจะมีที่มาจากจีน แต่เมื่อเข้ามาสู่ประเทศไทยบรรพบุรุษของไทยก็ได้นำมาปรับปรุง ประยุกต์ให้กลมกลืนกับความเป็นไทยได้อย่างเหมาะสมจนกลายเป็นการละเล่นของไทยที่นิยมเล่นกันอย่างกว้างขวางทั้งในภาคกลางและภาคตะวันออกตั้งแต่จังหวัดเพชรบุรี สมุทรปราการ จนถึงจังหวัดชลบุรีจนกระทั่งวัฒนธรรมตะวันตกหลั่งไหลถาโถมเข้าสู่ประเทศไทย การละเล่น วัฒนธรรม ประเพณีไทยเริ่มลดความสำคัญหรือเริ่มลืมเลือนไป การเล่นผะหมีก็มิได้เป็นข้อยกเว้นเช่นกันจึงทำให้ไม่ค่อยมีใครรู้จักโดยเฉาพในแวดวงของเยาวชนไทย ในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นครูสอนวิชาภาษาไทยและวิชาหนึ่งที่ต้องสอนคือลักษณะคำประพันธ์ไทยจึงมีความคิดที่จะนำผะหมีซึ่งเดิมเป็นการละเล่นเข้าสู่วงการศึกษานำมาใช้ในเรื่องการสอนสามารถทำใหั้งผู้เรียนและผู้สอน “สนุกกับภาษาไทย” ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงศึกษาค้นคว้าเรื่องเรื่องผะหมีอย่างจริงจังทั้งทางด้านเอกสารต่างๆ และศึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ คือ รองศาสตรจารย์ธนู บุณยร์ตพันธุ์ ซึ่งเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่วิทยาลัยครูจันทรเกษมในสมัยนั้นได้รับความอนุเคราะห์เป็นอย่างดียิ่งและท่านแนะนำให้ไปพบกับอาจารย์วีระ ฉ่ำตุ๋ย ซึ่งเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนบ้านระกาศ อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ บุคคลท่านนี้เคยเป็นนายโรงผะหมีที่มีชื่อกระฉ่อนเป็นที่รู้จักกันในวงการผะหมี ข้าพเจ้าจึงเดินทางไปยังโรงเรียนบ้านระกาศ ทั้งอาจารย์วีระ ฉ่ำตุ๋ย และอาจารย์ในโรงเรียนให้การต้อนรับร่วมกันให้ข้อมูลเป็นอย่างดียิ่ง นอกจากนี้คณาจารย์ในโรงเรียนพร้อมทั้งชาวบ้านยินดีที่จะสละเวลาสาธิตการเล่นผะหมีให้ข้าพเจ้าและคณะได้ดู เพราะที่อำเภอบางบ่อก็ไม่ได้เล่นผะหมีมากันเป็นเวลามา 5 ปีแล้ว เมื่อถึงวันเวลาที่นัดหมาย รองศาสตร์จารย์ธนู บุณยร์ตพันธุ์ และคณาจารย์จากศูฯย์วัฒนธรรมวิทยาลัยครูจันทรเกษม ซึ่งอาจารย์เพ็ญศิริ ภักดีอุทธรณ์ เป็นผู้อำนวยการ อาจารย์สมาน เฉตระการ เป็นอาจารย์จากวิทยาลัยครูสวนสุนันทา ท่านให้ความอนุเคราะห์เป็นฝ่ายเก็บภาพทำ Art Work และทำสไลด์ในงานวิจัยรวมทั้งข้าพเจ้าได้เดินทางไปยังโรงเรียนบ้านระกาศอีกครั้งหนึ่งเพื่อศึกษาดูการเล่นผะหมีที่ทางโรงเรียนจัดขึ้น และชาวบ้านสละเวลาจากการทำงานมาร่วมเล่นให้ดูด้วยความเต็มใจและภาคภูมิใจ ข้าพเจ้ารู้สึกซาบซึ้งและขอบพระคุณทุกๆท่านที่ได้กล่าวถึงทั้งหมดนี้



   เมื่อได้ข้อมูลทั้งจากเอกสารและจากการสาธิตของโรงเรียนบ้านระกาศแล้วจึงนำมาสร้างบทเรียนสไลด์ประกอบคำบรรยายวิชาคติชนวิทยา เรื่อง “ผะหมี” สำหรับ  นักศึกษาวิทยาลัยครูระดับปริญญาตรี โดยได้รับความกรุณาจากอาจารย์ปราณี นนทมาศ รองศาสตราจารย์สุภากร ราชากรกิจ ดร.อัมพร ศิริบูญมา และอาจารย์สุโชติ ดาวสุโข ในการให้คำปรึกษา แนะนำ ตรวจ เพิ่มเติม แก้ไขข้อบกพร่องต่างๆจนทำให้งานวิจัยนี้เสร็จสิ้นสมบูรณ์


   ในช่วงที่ข้าพเจ้าสร้างบทเรียนสไลด์ประกอบคำบรรยายเรื่องผะหมีเสร็จอยู่ในขั้นตอนของการทดลอง ข้าพเจ้านำไปทดลองภาคสนามกับนักศึกษาวิทยาลัยครูพิบูลสงคราม เมื่อนำผลการทดลองกลับมากรุงเทพฯ พอดีกับศูนย์วัฒนธรรมวิทยาลัยครูสวนสุนันทาประกาศประกวดผลงาน สไลด์ประกอบคำบรรยายเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมข้าพเจ้าจึงนำผลงานเรื่อง “ผะหมี” มาปรับปรุงให้ตรงกับเกณฑ์กติกาและส่งเข้าประกวดประเภทประชาชน ผลการตัดสินเรื่องผะหมีได้รับรางวัลที่ 1 จากนั้นจึงได้รับการติดต่อจากคณะกรรมการเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติให้ไปเผยแพร่ออกรายการสดทางโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 5 ข้าพเจ้าจึงชวนอาจารย์วีระ ฉ่ำตุ๋ย ไปออกรายการโดยมีคุณประภัทร ศรลัมภ์ เป็นผู้ดำเนินรายการออกอากาศเป็นเวลา 30 นาทีหลังจากออกกากาศเสร็จมีผู้ติดต่อให้ทำผะหมีป้อนรายการโทรทัศน์แต่ข้าพเจ้าได้ปฏิเสธไปเพราะเห็นว่าคงไม่มีเวลาทำให้
วิทยานิพนธ์เรื่อง การสร้างบทเรียน สไลด์ประกอบคำบรรยายวิชาคติชนวิทยา เรื่อง “ผะหมี” สำหรับนักศึกษาวิทยาลัยครูระดับปริญญาตรี นี้ได้รับทุนอุดหนุนงานวิจัยจากสำนักวัฒนธรรมแห่งชาติจำนวน 3,000 บาทด้วย


 

 counter ©  Powered by SEAL2thai Team :::
 :::
[ดินแดนปัญญาชน]
::: [รวมสาระ] ::: [กระดานปัญญาชน] :::[คุรุชน วงการครู] ::: [สอบบรรจุครู] :::