โครงการสร้างพระพุทธรูปเพื่อประดิษฐานไว้ ณ อุโบสถ “อาภากร”

เพื่อเป็นศาสนานุสรณ์ แด่ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์




 

 

 

ความเป็นมา    รูปต้นแบบองค์พระ    พระเจ้าแสนแซ่ทองคำ    กำหนดการ

จดหมายจากวัดเขตอุดมศักดิ์วนาราม 23 มิถุนายน 2551

   ขออนุโมทนาบุญแด่คุณพิริยะ ตระกูลสว่าง และคณะศรัทธาทุกท่านที่ได้ให้ความช่วยเหลือประชาสัมพันธ์และร่วมบริจาคทรัพย์ในการสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่อง ปางห้ามญาติ ในวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๑ ที่ผ่านมา การจัดงานในครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จตามที่ได้ตั้งใจไว้ทุกประการ ซึ่งก็ต้องยกคุณงามความดีให้กับคณะศิษยานุศิษย์ ตลอดถึงลูกหลานเสด็จเตี่ยทุกท่านที่ได้ร่วมบุญกันในครั้งนี้
   องค์พระที่ได้ทำพิธีเททองหล่อเมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๑ นั้น ตอนนี้ได้ทำการขัดแต่งและลงสีรองพื้นเสร็จเรียบร้อย ได้อัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดเขตอุดมศักดิ์วนาราม เป็นที่เรียบร้อยแล้ว รอการสร้างเครื่องทรง และลงรักปิดทองคำแท้ พร้อมทั้งประดับอัญมณี ในการนี้ก็ใคร่บอกบุญมายังทุกท่านได้ร่วมกันสมทบทุนในการสร้างเครื่องทรงองค์พระให้เรียบร้อยตามเจตนารมณ์ที่ได้ตั้งกันไว้ตั้งแต่แรกเริ่มโครงการ โดยที่ท่านสามารถร่วมบุญได้ที่

พระครูอุดมเขตตาภิวัฒน์ (เจ้าอาวาสวัดเขตอุดมศักดิ์วนาราม)
วัดเขตอุดมศักดิ์วนาราม ต.หาดทรายรี อ.เมือง จ.ชุมพร 86120

โทร 081 – 2707804 , 077 - 558092 ,077 – 558093 แฟ็ก 077 – 558175
หากท่านไม่สามารถเดินทางมาร่วมบุญที่วัดได้ ท่านสามารถโอนเข้าบัญชี
ธนาคาร ไทยธนาคาร สาขาชุมพร
ชื่อบัญชี พระครูอุดมเขตาภิวัฒน์ สร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องปางห้ามญาติ
เลขที่บัญชี 414-2-14165-1


   ท้ายนี้ก็ขออนุโมทนาบุญแด่ทุกท่านที่ได้ร่วมกันในนี้ ขอให้ทุกท่านจงประสบความสุขความเจริญ คิดหวังสิ่งใดที่เป็นไปด้วยความชอบธรรมก็ขอให้สมปรารถนาทุกประการ และขออำนาจพระบารมีพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ จงปกป้องคุ้มครองทุกท่านและครอบครัวให้เจริญก้าวหน้ามีความมั่นคงในหน้าที่การงาน มีโชคมีลาภกันทุกท่าน ทุกคน
                                                               คณะศิษยานุศิษย์
                                                          วัดเขตอุดมศักดิ์วนาราม

ภาพการเททองหล่อพระพุทธรูปทรงเครื่อง และยกช่อฟ้าพระอุโบสถอาภากร19พ.ค.2551
 


ความเป็นมา

   ด้วยวัดเขตอุดมศักดิ์วนาราม เป็นวัดสำคัญของจังหวัดชุมพร มีสถานที่ตั้งอยู่ ณ ตำบลหาดทรายรี อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร ใกล้กันกับบริเวณศาลของพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศตั้งวัด เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๓ โดยหม่อมเจ้าหญิงเริงจิตรแจรง อาภากร พระธิดาใน พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ได้ประทานอนุญาตให้ใช้นามวัดว่า “วัดเขตอุดมศักดิ์วนาราม” และหม่อมเจ้ารุจยากร อาภากร พระโอรสได้ประทานนามอุโบสถที่กำลังก่อสร้างอยู่ว่า อุโบสถ “อาภากร” เพื่อเป็นพระอนุสรณ์แด่ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ที่พระองค์ได้ทรงสิ้นพระชนม์ที่นี่

   อุโบสถ “อาภากร” ได้เริ่มทำการก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๗ เป็นอุโบสถทรงจตุรมุข ซึ่งได้ดำเนินการก่อสร้างไปตามลำดับตามแต่กำลังทุนทรัพย์ที่ทางวัดได้มา จนถึงปัจจุบันได้แล้วเสร็จไปประมาณ ๘๐% ทางวัดและคณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ ของวัดได้ดำริที่จะสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่อง ปางห้ามญาติ เพื่อประดิษฐานที่ด้านหน้าของอุโบสถ “อาภากร” เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร

   พระพุทธรูปที่ทางวัดกำลังดำเนินการจัดหาทุนสมทบในการประกอบพิธีเททองหล่ออยู่นี้เป็นพระพุทธรูปปางห้ามญาติ ทรงเครื่องรัตนะ สูง ๒๑๙ ซ.ม. หล่อด้วยทองเหลือง ประดับด้วยอัญมณีสีต่าง ๆ
การสร้างพระพุทธรูปในครั้งนี้ทางวัดและ ศิษยานุศิษย์ มีวัตถุประสงค์ ดังนี้
. - เพื่อสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องที่มีความสวยงามและถูกต้องตามพระพุทธลักษณะ
. - เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
. - เพื่อให้วัดเขตอุดมศักดิ์วนาราม มีศาสนวัตถุที่สำคัญควบคู่ไปกับอุโบสถ “อาภากร”
. - เพื่อพัฒนาวัดเขตอุดมศักดิ์วนารามให้เป็นอนุสรณ์ศาสนสถานที่สำคัญควบคู่ไปกับศาลของพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์
. - เพื่อให้พระภิกษุและสามเณรตลอดถึงพุทธศาสนิกชนที่เดินทางมาจากทิศทั้งสี่ได้สักการบูชาเป็นพุทธานุสติและเป็นการเสริมศรัทธาในพระศาสนา
. - เพื่อเป็นการสืบต่อและจรรโลงไว้ซึ่งพระศาสนา

   ศาสนศิลปะหรืองานศิลปกรรมในลัทธิความเชื่อถือและศาสนา ถือเป็นศิลปะที่เป็นผลงานสูงสุดของมนุษย์ อันเป็นงานสร้างสรรค์ที่เหนือกว่างานสร้างสรรค์ด้านอื่น ๆ เพราะเป็นงานศิลปะที่เกิดจากความซาบซึ้งทางพุทธิปัญญาที่มีคุณค่าเหนือกว่าศิลปะทั้งหลายที่มนุษย์ได้สร้างขึ้น งานจิตรกรรมของไทยในสมัยโบราณมักจะสร้างสิ่งสมมติเพื่อเป็นสัญลักษณ์ เช่น การเขียนภาพพระพุทธเจ้าขึ้นเพื่อแทนความหมายของนิพพาน การสร้างงานศิลปะในสมัยโบราณสร้างขึ้นเพื่อความสบายใจหรือเพื่อแสดงถึงความกตัญญูที่มีต่อธรรมชาติ

   ศิลปะทุกแขนงในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ทำขึ้นจากคติความเชื่อถือทั้งสิ้น จนกระทั้งเกิดมีศาสนาขึ้นมา ศิลปะทุกแขนง ก็ได้เปลี่ยนมารับใช้ศาสนาเป็นส่วนใหญ่ จึงอาจกล่าวได้ว่า ศาสนาเป็นแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ต่อการสร้างสรรค์งานศิลปะ ทำให้ศิลปินได้รับแรงบันดาลใจจากศาสนาในการสร้างศาสนสถาน ศาสนวัตถุ และจิตกรรมอันเนื่องมาจากศาสนาอยู่มากมาย

   ในประเทศไทยศิลปกรรมที่สร้างขึ้นครั้งแรกสุด นอกจากศิลปกรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ก็ได้แก่ศิลปกรรมอันเนื่องมาแต่พุทธศาสนาทั้งสิ้น ได้แก่ สมัยทวาราวดี สมัยศรีวิชัย สมัยลพบุรี สมัยเชียงแสน สมัยสุโขทัย สมัยอู่ทอง สมัยอยุธยา และสมัยรัตนโกสินทร์
 
   คติความเชื่อในแต่ล่ะศาสนาที่แตกต่างกันย่อมเป็นผลให้ลักษณะของศิลปกรรมแตกต่างกันไปด้วย ยุคใดที่ศิลปินมีศรัทธาต่อศาสนามาก ประกอบกับบ้านเมืองรุ่งเรือง ศิลปกรรมที่ปรากฏออกมาจะแสดงให้เห็นว่าได้ทำขึ้นอย่างมีชีวิตจิตใจและสวยงามจนหาที่เปรียบมิได้

   งานปติมากรรมของไทยนั้นได้สร้างลักษณะเพื่อแทนพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ เช่น พระพุทธรูปปางลีลา ศิลปะสุโขทัย ได้แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดถึงสัญลักษณ์แห่งความหลุดพ้น ความรู้แจ้งในรสพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

   ศิลปะยุคทองของไทย ความคิดสร้างสรรค์ของศิลปินจะทำให้เกิดวิวัฒนาการของงานศิลปะ ที่สวยงามที่สุดและสมบูรณ์ลงตัวที่สุด ซึ่งจัดได้ว่าเป็นศิลปะยุคทองหรือยุคคลาสสิก ศิลปะยุคทองของไทยคือศิลปะสมัยสุโขทัย

    ศิลปะยุคทองเป็นศิลปกรรมที่มีความงามสูงสุดซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกว่า เป็นงานศิลปะที่มีรูปแบบที่บริสุทธิ์ มีความสมบูรณ์ ทั้งทางด้านเทคนิคและฝีมือช่าง ประกอบด้วย แบบของความคิดและอุดมคติ ในความงามอันสูงส่ง ศิลปะยุคทอง เป็นศิลปวัฒนธรรมของแต่ละชาติ ที่มีความเจริญคลี่คลายถึงจุดสูงสุด ซึ่งมีลักษณะเป็นอุดมคติของตนเองด้วยแบบอย่างง่าย ๆ และมีความสวยงามจนไม่มีศิลปะสมัยใดเทียบได้

   พระพุทธรูปสมัยสุโขทัย แสดงให้เห็นถึงลักษณะเหนือระดับมนุษย์ธรรมดา ความปรารถนาอันยิ่งใหญ่ในอุดมคติอันสูงสุดของพุทธศาสนาได้ทำพระพุทธรูปขึ้นโดยมีพุทธลักษณะตามที่กล่าวไว้ในวรรณคดี ภาษาบาลีของลังกา ช่างสุโขทัยได้นำความงามจากวรรณคดีมาดัดแปลงให้ประติมากรรมไทยมีความสวยงามอย่างประหลาด ช่างสุโขทัยได้ดัดแปลงตามความชำนาญผสมกับความนิยม ความงามตามแบบไทยจึงทำให้พระพุทธรูปมีแบบเฉพาะที่เป็นเอกลักษณ์ของประติมากรรมสมัยสุโขทัย โดยพระพุทธรูปที่มีความงามที่สุดคือ พระพุทธรูปปางลีลาสำริด ( ปัจจุบันประดิษฐานที่ระเบียงวัดเบญจมบพิตร )

   พระพุทธรูปสมัยอยุธยา จัดได้ว่าเป็นยุคเสื่อมของประติมากรรมไทย พระพุทธรูปอยุธยาโดยทั่วไปจะไม่มีความสวยงาม และแข็งกระด้างไม่มีชีวิตจิตใจ ได้แบบอย่างมาจาก พระพุทธรูปอู่ทอง โดยรับเอาประติมากรรมของลพบุรีและสุโขทัย มาทำตามแบบ ส่วนด้านสถาปัตยกรรม จะมีความสวยงาม อ่อนช้อยมากกว่าสถาปัตยกรรมสมัยอื่น ๆ
สมัยอยุธยานิยมทำพระพุทธรูปทรงเครื่องกันมากทั้งนี้โดยหมายเอาว่าเป็นพระศรีอาริยเมตไตรยที่จะทรงตรัสรู้ในภพหน้า (พระศรีอาริเมตไตรย ถือเป็นพระพุทธรูปทวาราวดีสมัยอยุธยา)พระพุทธรูปมักทำอย่างพระพุทธเจ้า ทรงจำแลงองค์เป็นพระจักรพรรดิ

   พระพุทธรูปทรงเครื่องของศิลปะอยุธยา จะมีลักษณะผิดแปลกแตกต่างไปจากพระพุทธรูปทรงเครื่องสมัยลพบุรี คือมีทั้งทรงเครื่องใหญ่และทรงเครื่องน้อย แบบทรงเครื่องน้อยมักมีกรรเจียกยื่นออกมา เป็นครีบเหนือพระกรรณซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของพระพุทธรูปทรงเครื่องสมัยอยุธยา ที่เริ่มทำกันในพุทธศตวรรษที่ ๒๑ เป็นต้นมา พระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่ก็จะมีเครื่องประดับและลวดลายประกอบอย่างมากมาย
พระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์โดยทั่วไปมักเป็นการรวบรวมของเดิมที่มีอยู่ ในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี พระองค์ทรงรวบรวมพระพุทธรูปจากที่ต่าง ๆ นำมาบูรณะให้มีสภาพดีดังเดิม ในสมัยรัชกาลที ๑ ก็ทรงบูรณะศิลปกรรมที่มีอยู่เดิมเป็นพื้น และทรงรวบรวมพระพุทธรูปขึ้น แต่นิยมเน้นความสวยงาม ในเรื่องของ เครื่องประดับยิ่งกว่าสีพระพักตร์ที่แสดงออกของพระพุทธรูป

   ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ทรงโปรดให้หล่อพระพุทธรูป ที่มีลักษณะเหมือนมนุษย์มากยิ่งขึ้น คือไม่มีพระเกตุมาลา เช่น พระพุทธสัมพรรณี และ พระนิรันตราย
   ในสมัยรัชกาลที่ ๕ และ ๖ ทรงสร้างพระพุทธรูปเลียนแบบพระพุทธรูป คันธารราฐ เช่น พระพุทธรูปปางขอฝน ที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๕  ดังนั้น ผู้ออกแบบ (นายณัฐวุฒิ อ่อนนิ่ม) จึงได้ออกแบบพระพุทธรูปองค์นี้ โดยนำเอาศิลปะของทั้ง ๓ สมัย คือ สมัยสุโขทัย สมัยอยุธยา และสมัยรัตนโกสินทร์ มาผสมผสานกัน รวมทั้งได้เพิ่มเติมในลักษณะของศิลปะร่วมสมัยลงไป จึงได้รูปแบบพระพุทธรูปทรงเครื่องที่มีศิลปะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะองค์ แตกต่างจากพระพุทธรูปที่เคยมีมาในอดีตทั้ง ๓ สมัย

   ด้วยแรงศรัทธาในพระพุทธศาสนาและความจงรักษ์ภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ผู้ออกแบบ (นายณัฐวุฒิ อ่อนนิ่ม) จึงได้ออกแบบพระพุทธรูปทรงเครื่องปางห้ามญาติ ซึ่งเป็นพระประจำวันของผู้ที่เกิดวันจันทร์ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร ซึ่งพระองค์ทรงพระประสูติ ในวันจันทร์

   ในการจัดสร้างพระพุทธรูปองค์นี้ ส่วนหนึ่งเพื่อประดิษฐานไว้ ณ อุโบสถ “อาภากร” วัดเขตอุดมศักดิ์วนาราม ต. หาดทรายรี อ. เมือง จ. ชุมพร เพื่อเป็นศาสนานุสรณ์ แด่ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ซึ่งสถานที่นี้เป็นที่ที่พระองค์ทรงนพระชนม์ โดยในส่วนขององค์พระยังได้สื่อความหมายเชื่อมโยงถึงหลักธรรม อันเป็นหัวใจหลักในพระพุทธศาสนา ดังที่จะแสดงให้เห็นต่อไป
 

 

 

รูปต้นแบบองค์พระ

ออกแบบโดย

นายณัฐวุฒิ  อ่อนนิ่ม (เด็กวัด)

   เศียร แสดงให้เห็นถึง พระพักตร์ที่เอิบอิ่ม รอยยิ้ม ที่บ่งบอกถึงพระเมตตาต่อหมู่มวลสรรพสัตว์

   มงกุฎ เป็นทรงบัวตูมมีปลายแหลมตะวัดเปรียบด้วยพระปัญญาที่เฉียบแหลม รอบรู้ในทุกสรรพศาสตร์เป็นปริศนาธรรม สอนให้มนุษย์แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ด้วยสติปัญญาของตน ไม่ใช่ใช้อารมณ์ อาจใช้สติปัญญาพิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบเสียก่อน ด้านหลังบัวเป็น พระธรรมจักร มีเปลวรัศมีแผ่รอบด้าน หมายถึงพระธรรมคำสอนที่แผ่ไปทั่วทุกสารทิศ

   พระเนตร ที่มองต่ำ เป็นปริศนาธรรม สอนให้มองตนเอง พิจารณาตนเอง ตักเตือนแก้ไขตนเอง ไม่ใช่คอยจับผิดผู้อื่น ซึ่งตามปกติของคนแล้วมักมองเห็นความผิดพลาดของคนอื่นแต่ลืมมองตนเอง ทำให้สูญเสียเวลาและโอกาส ในการปรับปรุงพัฒนาตนเอง ไม่มีใครจะตักเตือนตัวเราได้ดีเท่าตัวเราเอง ตามพุทธพจน์ที่ว่า อตฺตนา โจทยตฺตานํ จงเตือนตนด้วยตนเอง

   พระกรรณ ที่ยาน เป็นการสอนให้มีจิตหนักแน่นมั่นคงไม่เชื่ออะไรง่าย ๆ แต่คิดพิจารณาไตร่ตรองด้วยสติปัญญาอันแยบคายแล้วจึงเชื่อ ในฐานที่เป็นชาวพุทธก็ต้องเชื่อใน กฎแห่งกรรม

   องค์พระ ทรงเครื่องใหญ่ โดยการนำเอาศิลปะการแต่งกาย เครื่องทรงกษัตริย์ของแต่ละยุคมาผสมผสานรวมกัน ผ่านอุดมคติ ของผู้ออกแบบและศิลปะร่วมสมัยอย่างผสมผลสานกลมกลืน

   พระหัตถ์ขวา ยกขึ้นเสมอพระอุระ กางฝ่าพระหัตถ์แสดงให้เห็นพระธรรมจักร ซึ่งหมายถึง การแสดงธรรมโปรดเวไนยสัตว์

   พระประทีป ที่ข้อพระกรขวาเปรียบประดุจ ประทีปที่ส่องสว่างนำทางพุทธสาสนิกชนให้เดินตามแนวทางแห่ง พระธรรม ภายในประดิษฐานหัวใจพระพุทธร

   หัวใจพระพุทธรูป ได้สื่อออกมาในรูปของดอกบัว ที่มีกลีบบานออกมาอยู่ ๔ กลีบ เปรียบด้วยอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ซึ่งเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้ในคืนวันเพ็ญเดือน ๖ (วันวิสาขบูชา) ในส่วนบนยังคงเป็นบัวตูม เปรียบประดุจ พระบริสุทธิคุณ ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงบำเพ็ญจนหลุดพ้นจากอาสวกิเลสทั้งหลาย ยอดบนสุด ประดับด้วยอัญมณีสีขาว ซึ่งเปรียบประดุจแสงแห่งพระปัญญาที่ส่องสว่างนำทางหมู่สัตว์ทั้งหลายให้หลุดพ้นจากสังสารวัฏฏ์ ด้วยพระเมตตาอันบริสุทธิ์
 

อ้างอิง
 

พระเจ้าแสนแซ่ทองคำ
พระพุทธรูปที่มีหัวใจ-ตับ-ไต


   ตามประวัติกล่าวว่าเมื่อปี ๒๕๒๖ ได้มีชาวบ้านขุดพบพระพุทธรูปทองคำและนำมาถวายให้เป็นสมบัติของวัดพระเจดีย์ซาวหลัง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ เข้าลักษณะพระสีหลักษณะตามตำรับช่างโบราณเชียงแสน ศิลปะสมัยลานนา-กรุงศรีอยุธยา ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ขนาดหน้าตักกว้าง ๙ นิ้วครึ่ง สูง ๑๕ นิ้ว ทำด้วยทองคำ ๙๕.๕% น้ำหนักรวม ๑๐๐ บาทกับ ๒ สลึง สร้างด้วยกรรมวิธีเคาะตีขึ้นรูปทั้งองค์ ถอดออกเป็นชิ้นส่วนต่างๆ ได้ ๓๒ ชิ้น สังฆาฏิถอดได้เป็นแผ่นยาว ที่สังฆาฏิด้านหน้าด้านหลังประดับด้วยอัญมณีที่มีค่า ที่พระนลาฎประดับด้วยนิหล่า(พลอยชนิดหนึ่งมีสีฟ้าเข้ม อมเทา) ๑ เม็ด รอบพระเมาลีอีก ๔ เม็ด และที่ยอดพระเมาลี ๑ เม็ด เมื่อนำชิ้นส่วนต่างๆ เหล่านี้มาประกอบสวมต่อกันด้วยสลักใส่ไว้เป็นแห่งๆ จึงเข้าตำรับ ‘แสนแซ่’ ที่สำคัญก็คือ ในช่องพระเศียรมีผอบซึ่งบรรจุพระบรมธาตุไว้ด้วย และสามารถถอดพระเศียรได้เป็นชั้นๆ

   ที่น่าอัศจรรย์ก็คือ ภายในองค์พระมีหัวใจ ตับ ไต ไส้ ซึ่งทำด้วยทองคำบริสุทธิ์เช่นกัน และยังมีใบลานทองคำ ๒ แผ่น จารึกคาถาอักษรพื้นเมืองพันรอบขั้วหัวใจ และที่ไตมีจารึกอักขระ ๓๒ ตัว
   พระเจ้าแสนแซ่เป็นพระพุทธรูปทองคำองค์แรกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุแห่งชาติ และในวันที่ ๑๕ เมษายนของทุกปี จะมีงานประเพณีประจำปี พิธีสรงน้ำพระเจ้าแสนแซ่ทองคำ และในวันนั้นจะมีพิธีถอดสลักเปิดพระเศียร เพื่อนำพระบรมธาตุจากพระผอบมาสรงน้ำด้วย

พระเจ้าแสนแซ่ทองคำ

พระเจ้าแสนแซ่ทองคำ
พระพุทธรูปที่มีหัวใจ-ตับ-ไต

   
กำหนดการ
พิธีเททองหล่อองค์พระ
ณ วัดเขตอุดมศักดิ์วนาราม ตำบลหาดทรายรี อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร


วันจันทร์ที่ ๑๙ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๑

เวลา ๐๙.๑๙ น. ทำพิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดศักดิ์
และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัด
เวลา ๑๐.๑๙ น. พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ ๙ รูปเจริญพระพุทธมนต์
เวลา ๑๑.๐๐ น. ถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์
เวลา ๑๒.๐๐ น. เชิญทุกท่านร่วมรับประทานอาหาร
เวลา ๑๓.๑๙ น. พิธีถวายองค์ผ้าป่าสามัคคีแด่พระสงฆ์
เวลา ๑๔.๑๙ น. ทำพิธีเททองหล่อองค์พระ พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ ๑๐ รูป
เจริญชัยมงคลคาถา พระมหาเถราจารย์ ๔ รูป นั่งปรกอธิฐานจิต
ประจำทั้ง ๔ ทิศ
เวลา ๑๕.๐๐ น. พระสงฆ์ทั้งนั้นอนุโมทนา เป็นอันเสร็จพิธี
   


 
      ในการนี้จึงขอเรียนเชิญท่านผู้มีจิตศรัทธา ได้ร่วมกันบริจาคสมทบทุนในการจัดสร้างองค์พระถวายเป็นพุทธบูชา
เนื่องในวันวิสาขบูชาโลก

   เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในวโรกาสที่พระองค์เจริญพระชนมพรรษาครบ ๘๐ พรรษา
   เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พลเรือเอกพระเจ้าบรมวงค์เธอพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดศักดิ์ เนื่องในวันสิ้นพระชนม์ครบ ๘๕ ปี
 

ศรัทธาจะร่วมบริจาค
ติดต่อขอร่วมบริจาคสร้างกุศลได้ที่ พระครูอุดมเขตตาภิวัฒน์ (เจ้าอาวาสวัดเขตอุดมศักดิ์วนาราม)

วัดเขตอุดมศักดิ์วนาราม ต.หาดทรายรี อ.เมือง จ.ชุมพร 86120
โทร 081 – 2707804 , 077 - 558092 ,077 – 558093 แฟ็ก 077 – 558175
หากไม่สามารถเดินทางมาร่วมบุญที่วัดได้ ท่านสามารถโอนเข้าบัญชี
ธนาคาร ไทยธนาคาร สาขาชุมพร
ชื่อบัญชี พระครูอุดมเขตาภิวัฒน์ สร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องปางห้ามญาติ
เลขที่บัญชี 414-2-14165-1
 

คณะศิษยานุศิษย์
ประธานดำเนินการจัดสร้าง
ร่วมประชาสัมพันธ์โดย ดินแดนปัญญาชน จ.พิษณุโลก

ท่านสามารถอ่านข้อมูลได้ที่ www.SEAL2thai.org/etc/jatukamchumporn

รวมสาระ  counter Powered by www.seal2thai.org   ดินแดนปัญญาชน    เปิดโลกโภคทรัพย์