น่ารู้เรื่อง "ผะหมี"

 

 

 

 

ผะหมี : ความบันเทิงของปัญญาชน
ผ.ศ.สุรีย์ ไวยกุฬา
 

ตอนที่ 2 ความเป็นมาของผะหมี

   การละเล่นผะหมีในประเทศไทยมีความเป็นมาอย่างไรนั้นไม่ปรากฏหลักฐานยืนยันแน่ชัด จากคำบอกเล่าต่อๆกันมา กล่าวว่า เป็นการละเล่นของชาวจีน ชาวจีนที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยได้นำมาเผยแพร่แถวเมืองฝั่งทะเลตะวันออก โดยเฉพาะที่จังหวัดชลบุรีนิยมเล่นผะหมีกันมาก ทั้งพระและฆราวาส เรียกการเล่นชนิดนี้ว่า “ทายโจ๊ก” ตัวปัญหาผะหมีบางทีก็เขียนด้วยภาษาไทย แต่สำเนียงเป็นภาษาจีน โดยใช้ฉันทลักษณ์แบบไทย คือมีสำผัสคล้องจองเช่น
     หลงจ๋งโห้งหมิ้น
     อีซินอู้สี่
     ถ่อยไล่คีอี๋
     จ๊อนี้เจี๋ยะแช
     เป็นต้น การเล่นผะหมีคนจีนย่านสำเพ็งก็นิยมเล่นเช่นกัน
  

   เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงพระอิสริยยศ เป็นสมเด็จพระบรมโอสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธมกุฎราชกุมารนั้น ก็ได้ทรงพระราชนิพนธ์ปริศนาผะหมีขึ้นในบางโอกาส สำหรับให้ข้าราชบริพารในพระองค์ คิดตอบเล่นเป็นการภายในส่วนพระองค์ ผู้ที่ตอบถูก็จะได้รับของพระราชทาน ครั้งหนึ่งในงานฤดูหนาว ที่วัดเบญจมบพิตร บรรดาเจ้านายพากันไปออกร้านในงานเป็นจำนวนมาก พระองค์ก็ทรงออกร้านในงานนั้นด้วย ในร้านของพระองค์ทรงจัดให้มีการทางปริศนาขึ้น และให้รางวัลตอบแทนตามสมควร ปรากฏว่ามีผู้สนใจไปร่วมตอมปริศนากันมากมาย จึงได้ทรงจัดออกร้านทำนองนี้ขึ้นอีก ในปีต่อๆมา สืบมาจนถึงรัชสมัยที่พระองค์ขึ้นครองราชย์ ปริศนาที่นำออกมาทายนั้น มีทั้งที่ทรงพระราชนิพนธ์เอง และที่เจ้านาย หรือข้าราชการคิดผูกขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายให้ทรงเลือก
การเล่นทายปริศนาในตอนแรกนั้น ทรงเรียกว่า “ผะหมี” ซึ่งเป็นคำภาษาจีน ตามคำอธิบายของพระเจนจีนอักษร กล่าวว่า “ผะ” แปลว่า “ตี” “หมี” แปลว่า “ดำ” หรือ “อำพราง” รวมความ “ผะหมี” ก็คือ การแก้ปัญหา หรือการตีคำอำพรางให้ชัดแจ้ง การเล่นผะหมีนี้แพร่หลายมากในหมู่นักปราชญ์ราชบัณฑิตและกวีในประเทศจีน ถือกันว่าเป็นการประลองปัญญาและฝึกสมอง ในสมัยหล่ำปักเซี้ยว ระหว่าง พ.ศ. 936 – 1160 ซึ่งเป็นสมัยหลังสามก๊ก เรียกการละเล่นชนิดนี้ว่า “เต็งหมี” คำว่า “เต็ง” แปลว่าสว่าง หรือ โคม เต็งหมีหมายถึง แสงสว่างหรือโคมส่องให้เป็นคำที่อำพรางไว้นั่นเอง


   การเล่นทายปริศนา หรือ ผะหมี ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีลักษณะและวิธีการดังนี้
   ในการโปรดเกล้าให้มีการเล่นที่เรียกว่าผะหมีนั้น ได้ทรงแต่งร้านแบบจีนเป็นห้องโถง มีช่องสำหรับผู้ตอบแก้คำปริศนา คำปริศนาเขียนบนกระดาษสีต่างๆ ติดไว้ตามฝาห้อง ผู้ใดคิดตอบปริศนาแผ่นใดได้ ก็ปลดแผ่นปริศนาไปตอบ ผู้ตอบจะต้องเสียเงิน 1 บาท เสียก่อน แล้วจึงตอบ เมื่อตอบแล้ว จะมีอาณัติสัญญาณดังขึ้นข้างในห้อง ถ้าอาณัติสัญญาณเป็นเสียงกลอง แปลว่าทายถูก จะมีรางวัลเป็นสิ่งของต่างๆยื่นส่งมาให้ ผู้ตอบถูกรับของ พร้อมกับส่งใบปริศนาคืน ถ้ามีเสียงอาณัติสัญญาณดัง “แก๊ก” (เป็นไม้ตีที่ข้างกลอง) ก็เป็นที่เข้าใจว่า คำตอบนั้นผิด ผู้ตอบต้องนำแผ่นปริศนา ได้ติดไว้ยังที่เดิม
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้เรียกการเล่นชนิดนี้ว่า “ทายปริศนา” ความจริงการเล่นทายปัญหาหรือปริศนานี้ ไทยเราก็มีเล่นกันมาแต่โบราณ แล้วที่เรียกกันว่า “ปริศนาคำทาย” แต่ไทยเราไม่ได้เล่นกันจริงจัง อย่างของจีน ที่เขียนปริศนาลงแผ่นออกโรงเล่นสำหรับไทยเราอาจจะล้อมวงกันเล่นในวงญาติ พี่ๆน้องๆ หรือเพื่อนฝูง เพื่อเป็นการบันเทิง ฝึกสมอง เช่น “อะไรเอ่ย ตรีเนตร แต่ไม่ใช่สักโก อยู่วิมานสูงอักโข อมอาโปไว้มิดชิด มีหางหูนิด เจ๊กก็ไม่ใช่” เป็นต้น จะสังเกตว่าลักษณะปริศนาของไทยจะเป็นคำคล้องจอง คือมีสัมผัสอันเป็นเอกลักษณะของคนไทย แม้แต่ปัญหา หรือปริศนาสั้นๆ เช่น “อะไรเอ่ย นกกระปูดตาแดงน้ำแห้งก็ตาย” เป็นต้น


   จากที่กล่าวมาแล้วว่าการเล่นผะหมีนี้เป็นของชาวจีนที่นิยมเล่นกันมาก่อน โดยผู้ที่มีความรู้ คิดผูกปริศนาเป็นคำประพันธ์อย่าสงจีนนำมาทายลองปัญญากัน ชาวจีนที่อพยพมาทำมาหากินในประเทศไทย เช่นย่านสำเพ็ง ก็ได้นำการเล่นผะหมีนี้มาออกโรงเล่นกัน คนไทยที่ได้ไปร่วมดูการเล่น เห็นวิธีการจึงนำมาดัดแปลง โดยตัวปริศนาแต่งด้วยบทร้อยกรองของไทยชนิดต่างๆ ส่วนวิธีการเล่นยังคงเอาแบบอย่างการเล่นผะหมีของคนจีน คือเขียนปริศนาลงแผ่น และออกโรงเล่นอย่างจีน การเล่นผะหมีที่ดัดแปลงให้เหมาะสมกับคนไทยนี้ เป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย จนเมื่อพูดถึงผะหมี แล้วจะนึกถึงตัวปริศนาที่แต่งเป็นกาพย์ กลอน โครง ร่าย แบบไทยๆ ไม่ได้นึกถึงลักษณะคำประพันธ์ของจีนเลย การเล่นผะหมี นิยมแพร่หลายไปไนหมู่ของคนไทยตามท้องถิ่นต่างๆ เช่น จังหวัดชลบุรี ซึ่งเรียกว่า ทายโจ๊ก จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดสมุทรปราการเป็นต้น โดยเฉพาะ ชาวอำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ นิยมเล่นกันมาก งานประจำปีนมัสการพระสมุทรเจดีย์ ก็มีการเล่นผะหมีด้วย ส่วนโจ๊กของจังหวัดชลบุรีทราบว่า มหาวิทยาลันบูรพา ได้ศึกษาและสืบสานให้คงอยู่ และส่งเสริมให้แพร่หลายต่อไปด้วย

 

 counter ©  Powered by SEAL2thai Team :::
 :::
[ดินแดนปัญญาชน]
::: [รวมสาระ] ::: [กระดานปัญญาชน] :::[คุรุชน วงการครู] ::: [สอบบรรจุครู] :::