"เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม
เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม"
ฉัตรมังคลาเศียรวาท
๕ พฤษภาคม
สรวมชีพบังคมบรมบาท
มหาราชนวมินทร์ปิ่นสยาม
ภูมิพลชนแซ่ซ้องก้องเขตคาม
เทิดพระนามเหนือเกล้าเหล่าประชา
ทรงครองราชย์ร่มรัฐฉัตรมงคล
ธ ปกเกศปวงชนวันที่ห้า
ปีเก้าสามนามเดือนพฤษภา
เป็นมหากษัตริย์ไทยโดยสมบูรณ์
ทรงทศพิธราชธรรมจริยา
ดับทุกข์เข็ญปวงประชาให้สิ้นสูญ
ได้พลิกฟื้นผืนไผทเจิดไพบูลย์
ทรงเกื้อกูลดินน้ำฉ่ำร่มเย็น
จากโครงการเนื่องด้วยพระราชดำริ
เหตุขัดแย้งเตือนสติให้คิดเห็น
"จงรู้รักสามัคคี" ชี้ประเด็น
ธ ทรงเป็นฉัตรทองผ่องอำไพ
ขออัญเชิญอำนาจพระไตรรัตน์
คุ้มภูบาลสิริสวัสดิ์นิรัติศัย
จักรีวงศ์คงสถิตคู่ชาติไทย
พระบารมีเกริกไกรนิรันดร์กาล
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ
ข้าพระพุทธเจ้า ผศ.สุรีย์ ไวยกุฬา
วันฉัตรมงคล
เป็นวันที่ระลึกในการครบรอบปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
ทรงรับพระบรมราชาภิเษก เป็นพระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทยโดยสมบูรณ์ กล่าวคือ
พระองค์ได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ต่อจากสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2489 แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาอยู่ ณ
ทวีปยุโรป จนกระทั่งทรงบรรลุนิติภาวะ แล้วจึงได้เสด็จนิวัติประเทศไทย
และรัฐบาลไทย ได้น้อมเกล้าฯ จัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกถวาย เมื่อวันที่ 5
พฤษภาคม พ.ศ.2493 เหล่าพสกนิกรชาวไทย ได้ถือเอาวันที่ 5
พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันฉัตรมงคลรำลึก
ประวัติความเป็นมาของการจัดพิธีบรมราชาภิเษก
การจัดพิธีบรมราชาภิเษก
เป็นพิธีที่จัดต้อนรับหรือรับรองฐานะความเป็นประมุขของสังคม
อย่างเป็นกิจจะลักษณะ ซึ่งมีมาแต่ครั้งพ่อขุนผาเมือง
ได้อภิเษกพ่อขุนบางกลางหาว หรือพ่อขุนบางกลางท่าว
ให้เป็นผู้ปกครองเมืองสุโขทัย
ดังปรากฏในหลักฐานในศิลาจารึกวัดศรีชุมของพญาลิไท
ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี
พระองค์ได้ทรงฟื้นฟูวัฒนธรรมของชาติทุกสาขา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฟื้นฟูพระราชพิธีบรมราชาภิเษกให้ถูกต้องสมบูรณ์
พระมหากษัตริย์ที่ยังมิได้ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จะไม่ใช้คำว่า
"พระบาท" นำหน้า "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" และคำสั่งของพระองค์ก็ไม่เรียกว่า
"พระบรมราชโองการ" และที่สำคัญประการหนึ่งคือ จะยังไม่มีการใช้ นพปฎลเศวตฉัตร
หรือฉัตร 9
ชั้น
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช
ได้ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบอย่างโบราณ ในวันที่ 4 พฤษภาคม
พ.ศ.2493 เป็นวันจุดเทียนชัย และวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2493
อันเป็นวันประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ขั้นตอนของพิธีที่สำคัญต่างๆ แบ่งออกเป็น 5 ลำดับ
ดังนี้
- ขั้นเตรียมพิธี
- พิธีเบื้องต้น
- พิธีบรมราโชวาท
- พิธีเบื้องปลาย และ
- เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร
พระราชพิธีที่ประกอบขึ้นก่อนวันพระฤกษ์บรมราชาภิเษก
1.
ขั้นเตรียมพิธี
มีการตักน้ำและตั้งพิธีเสกน้ำสำหรับถวายเป็นน้ำอภิเษก และน้ำสรงมูรธาภิเษก
สำหรับน้ำอภิเษกนั้น ต้นตำราให้ใช้น้ำจากสถานที่สำคัญต่างๆ 18 แห่ง
และทำพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ ณ พุทธเจดีย์ที่สำคัญตามจังหวัดต่างๆ
ทั่วราชอาณาจักร
แล้วส่งเข้ามาเจือปนเป็นน้ำมูรธาภิเษกให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสรง
และทรงรับน้ำอภิเษกในวันพระราชพิธีราชาอภิเษกต่อไป
พระพุทธเจดีย์ที่สำคัญที่ตั้งพิธีทำน้ำอภิเษก
ทั้ง 18 แห่ง คือ
- จังหวัดสระบุรี ที่ตั้งพระพุทธบาท
- จังหวัดพิษณุโลก ที่ตั้งวัดพระศรีมหาธาตุ
- จังหวัดสุโขทัย ที่ตั้งวัดพระมหาธาตุ
- จังหวัดนครปฐม ที่ตั้งพระปฐมเจดีย์
- จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ตั้งวัดพระมหาธาตุ
- จังหวัดลำพูน ที่ตั้งวัดพระธาตุหริภุญชัย
- จังหวัดนครพนม ที่ตั้งวัดพระธาตุพนม
- จังหวัดน่าน ที่ตั้งวัดพระธาตุแช่แห้ง
- จังหวัดร้อยเอ็ด ที่ตั้งวัดบึงพระลานชัย
- จังหวัดเพชรบุรี ที่ตั้งวัดมหาธาตุ
- จังหวัดชัยนาท ที่ตั้งวัดพระบรมธาตุ
- จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ตั้งวัดโสธร
- จังหวัดนครราชสีมา ที่ตั้งวัดพระนารายณ์มหาราช
- จังหวัดอุบลราชธานี ที่ตั้งวัดศรีทอง
- จังหวัดจันทบุรี ที่ตั้งวัดพลับ
- จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ตั้งวัดมหาธาตุ อำเภอไชยา
- จังหวัดปัตตานี ที่ตั้งวัดตานีณรสโมสร
- จังหวัดภูเก็ต ที่ตั้งวัดทอง
น้ำสำหรับมูรธาภิเษกเป็นน้ำที่เจือด้วยน้ำจากปัญจมหานทีในอินเดีย คือ
แม่น้ำคงคา ยมนา อิรวดี สรภู มหิ และจากปัญจสุทธคงคา ในแม่น้ำสำคัญทั้ง 5
ของไทย คือ
- แม่น้ำเจ้าพระยา ตักที่ตำบลบางแก้ว จังหวัดอ่างทอง
- แม่น้ำเพชรบุรี ตักที่ตำบลท่าชัย จังหวัดเพชรบุรี
- แม่น้ำราชบุรี ตักที่ตำบลดาวดึงส์ จังหวัดสมุทรสงคราม
- แม่น้ำป่าสัก ตักที่ตำบลท่าราบ จังหวัดสระบุรี
- แม่น้ำบางปะกง ตักที่ตำบลบึงพระอาจารย์ จังหวัดนครนายก
และน้ำ 4 สระ
คือสระเกษ สระแก้ว สระคงคา สระยมนา ในจังหวัดสุพรรณบุรี
ซึ่งเคยใช้เป็นน้ำสรงมาแต่โบราณ
นอกจากนี้ยังมีพิธีจารึกพระสุพรรณบัฎดวงพระบรมราชสมภพ (ดวงเกิด)
และแกะพระราชลัญจกร (ดวงตราประจำรัชกาล)
โดยได้มีการประกอบพิธีจารึกพระสุพรรณบัฎในวันที่ 23 เมษายน พ.ศ.2493
ในพระอุโบสถวัดพระศรีศาสดาราม
2. พิธีในเบื้องต้น
มีการตั้งน้ำวงด้าย จุดเทียนชัย
และเจริญพระพุทธมนต์ในการพระบรมราชาภิเษก
3.
พิธีบรมราชาภิเษก
เริ่มด้วยการสรงพระมุรธาภิเษกจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เสด็จพระราชดำเนินไปประทับเหนือพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรพระราชอาสน์
ราชบัณฑิตและพราหมณ์นั่งประจำ 8 ทิศ กล่าวคำถวายพระพรชัยมงคล
ถวายดินแดนแต่ละทิศให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงคุ้มครอง
(ในรัชกาลนี้ได้เปลี่ยนจากราชบัณฑิตเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทน)
ในวันที่ 5 พฤษภาคม อันเป็นวันประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสรงมูรธาภิเษก แล้วทรงเครื่องต้นเสด็จออกประทับ
เหนือพระที่นั่งอัฐทิศภายใต้สตปฎลเศวตฉัตร (ฉัตร 7
ชั้น) สมาชิกรัฐสภาถวายน้ำอภิเษก
และพราหมณ์ทำพิธีพวายน้ำเทพมนต์เวียนไปครบ 8 ทิศ เจ้าพระยาศรีธรรมธิเบศ
(จิตต์ ณ สงขลา) ประธานวุฒิสมาชิกสภา ถวายพระพรเป็นภาษามคธ และนายเพียร
ราชธรรมนิเทศ ประธานสภาผู้แทนราษฎรถวายพระพรเป็นภาษาไทย พระราชครูวามเทพมุนี
ถวายนพปฎลมหาเศวตฉัตร (ฉัตร 9 ชั้น)
แล้วเสด็จพระราชดำเนินสู่พระที่นั่งภัทรบิฐ
พราหมณ์ร่ายเวทเปิดศิวาลัยไกลาลทูลเกล้าฯ ถวายพระสุพรรณบัฎ
เครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องราชูปโภค และพระแสงอัษฎาวุธ
ด้วยภาษามคธ
นพปฎลมหาเศวตฉัตร
สำหรับพระสุพรรณบัฎ ได้จารึกพระปรมาภิไธยว่า "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
มหิตลาธิเบศรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร์ สยามมินทราธิราช
บรมนาถบพิตร"
เมื่อทูลเกล้าฯ
ถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ต่างๆ แล้ว พระราชครูวามเทพมุนี
ถวายพระพรชัยมงคลด้วยภาษามคธ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชโองการตอบ
พระราชอารักษาแต่ปวงชนชาวไทย ด้วยภาษาไทยว่า
"เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม
เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม"
เมื่อพระราชครูวามเทพมุนีรับพระราชโองการด้วยภาษามคธและภาษาไทยแล้ว
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรางหลั่งน้ำทักษิโณทก ตั้งพระราชสัตยาธิษฐาน
จะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจปกครองราชอาณาจักรไทยโดยทศพิธราชธรรมจริยา จากนั้นทรงเปลื้องพระมหาพิชัยมงกุฎ
พระธำมรงค์รัตนวราวุธ และพระธำมรงค์วิเชียรจินดา จมื่นสิริวังรัตน (เฉลิม
คชาชีวะ) เลขาธิการพระราชวัง ทูลเกล้าฯ ถวายดอกพิกุลทอง พิกุลเงิน
ทรงโปรยพระราชทานแก่พราหมณ์ แล้วเสด็จฯ ออกจากพระที่นั่งไพศาลทักษิณ
สู่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมแด่พระสงฆ์ 80 รูป
พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา สมเด็จพระสังฆราชถวายอดิเรกเป็นปฐม
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ถวายพระพรลา แล้วเสด็จขึ้น
สมเด็จพระสังฆราชดับเทียนชัย
4. พิธีเบื้องปลาย
เสด็จออกมหาสมาคม
เวลาบ่ายของวันที่ 5 พฤษภาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จออกมหาสมาคม
ที่พระที่นั่งอมรินทร์วินิจฉัย ให้คณะรัฐมนตรี คณะฑูต สมาชิกวุฒิสภา
สมาชิกสภาผู้แทน และข้าราชการเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท
เพื่อกราบทูลถวายพระพรชัยมงคล โดยมี จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี
กราบทูลในนามคณะรัฐมนตรีและข้าราชการทั่วพระราชอาณาจักร
และพระยาศรีธรรมาธิเบศ ประธานรัฐสภา กราบทูลในนามประชาชนชาวไทย
แล้วทรงมีพระบรมราชโองการตรัสตอบขอบใจทั่วกัน แล้วเสด็จขึ้น
นอกจากนี้ยังมีพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระราชินี ประกาศพระองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภกในพระบวรพุทธศาสนา
ถวายพระบังคมพระบรมศพ พระบรมอัฐิ
พระอัฐิพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระอัครมเหสีในรัชกาลก่อนๆ
และเสด็จเฉลิมพระราชมณเฑียร
5. เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร
การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยกระบวนพยุหยาตราสถลมารค
จัดเป็นราชประเพณีที่สำคัญพิธีหนึ่ง เมื่อเสด็จพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ทั้งนี้เพื่อให้พสกนิกร ได้มีโอกาสชื่นชมพระบารมี
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่
|