วันมาฆบูชา ชื่อเต็มว่า มาฆปุรณมีบูชา
แปลว่า การบูชาพระในวันเพ็ญ เดือน ๓
มีคำที่ควรทราบเกี่ยวกับวันมาฆบูชาดังนี้
จาตุรงคสันนิบาต แปลว่า
การประชุมอันประกอบด้วยองค์ ๔ ซึ่งเป็นเหตุการณ์อัศจรรย์เกิดขึ้นพร้อมกัน
คือ
๑. พระสงฆ์จำนวน ๑,๒๕๐ รูป
ซึ่งจาริกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาตามสถานที่ต่างๆ เดินทางมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ
เวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ
๒. พระสงฆ์ ๑,๒๕๐ รูปนี้ ล้วนเป็นพระอรหันต์
และได้รับการบวชจาก พระพุทธเจ้าโดยตรง ด้วยวิธี เอหิภิกขุอุปสัมปทา
๓. พระสงฆ์ ๑,๒๕๐ รูป
ต่างมาประชุมพร้อมเพรียงกันโดยมิได้นัดหมาย
๔. วันที่มาประชุม ตรงกับวันเพ็ญเดือนมาฆะ (เดือน ๓)
เป็นวันที่ พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนา ที่ชื่อว่า โอวาทปาติโมกข์
เอหิภิกขุอุปสัมปทา คือ
การอุปสมบทด้วยพระวาจาของพระพุทธเจ้า ว่า จงเป็นภิกษุมาเถิด
ธรรมอันเรากล่าวไว้ดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อกระทำ
ที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบ
โอวาทปาติโมกข์
คือข้อธัมมะย่ออันเป็นหลัก หรือหัวใจสำคัญของ พระพุทธศาสนา ๓ ประการคือ
ไม่ทำความชั่วทั้งปวง ทำความดีให้ถึงพร้อม และ
ทำจิตให้บริสุทธิ์ผ่องใส โอวาทปาติโมกข์นี้
พระพุทธเจ้าทรงแสดงที่วัดเวฬุวนาราม นครราชคฤห์ แคว้นมคธ ในเวลาบ่าย
เกี่ยวกับการปลงมายุสังขาร
หลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสรู้และสั่งสอนพระธรรมมาเป็นระยะเวลา
๔๕ ปี พระองค์ทรงปลงมายุสังขาร คือ ตั้งพระทัยว่า " ต่อแต่นี้ไปอีก ๓ เดือน
เราจักเสด็จดับขันธปรินิพพาน" การปลงอายุสังขาร
ตรงกับวันมาฆบูชาในปีที่พระพุทธองค์มีพระชนมายุ ๘๐ พระชันษา
ด้วยเหตุนี้ ในวันมาฆบูชา
ชาวพุทธจึงถือว่าเป็นวันที่มีความสำคัญเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้า รวม ๒
ประการ คือ เป็นวันที่แสดงโอวาทปาติโมกข์ และ เป็นวันปลงอายุสังขาร
ทำไมต้องเป็นวันเพ็ญเดือนสาม
การเสวยมาฆะฤกษ์เป็นวันเพ็ญพระจันทร์เต็มดวงในเดือนสาม ซึ่งเป็นคืนวันเพ็ญ
ที่ถือเป็นเวลาดีที่สุด ท่านเรียกว่า โอกาสโลกเป็นใจ คือ
กลางคืน อากาศไม่ร้อน ทั้งดวงจันทร์ก็สว่างนวล ไม่มีเมฆหมอกบัง ท้องฟ้าแจ่มใส
เหมาะอย่างยิ่งในการฟังธรรม
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงดำริว่า
เป็นกาลเวลาอันเหมาะสมที่จะได้กระทำพิธี สันนิบาตสาวก เพื่อวาง
รากฐานสันติภาพให้เกิดขึ้นแก่โลก ประกาศอุดมการณ์ หลักการ
และวิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ท่ามกลางพระอรหันต
สาวกทั้ง 1,250 รูป เพื่อเป็นหลักในการดำเนิน การเผยแผ่พระพุทธศาสนา
ต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกื้อกูลประโยชน์
สูงสุดแก่ชาวโลก การประชุมครั้งนี้จึงถือว่า เป็นการประชุมครั้งยิ่งใหญ่
และสำคัญที่สุดของพระพุทธศาสนา ซึ่งมีพระบรม
ศาสดาเป็นประธาน ท่ามกลางมหาสันนิบาตแห่งสาวก พระบรมศาสดาได้ทรงแสดงธรรม
โอวาทปาฏิโมกข์ อันเปรียบ
เสมือนธรรมนูญแห่งพระพุทธศาสนา ซึ่งชาวพุทธทั้งหลายได้ยึดถือเป็นแม่บท
สำหรับ การประพฤติปฏิบัติ เพื่อความพ้น
ทุกข์ของตนเอง และเป็นแม่บทสำหรับการเผยแผ่ พระพุทธศาสนา
มาตราบเท่าทุกวันนี้
สำหรับโอวาทปาฏิโมกข์นี้ เป็นคนละอย่างกับพระปาฏิโมกข์
ที่พระภิกษุต้องลงโบสถ์ฟังทุกวันพระ กึ่งเดือน พระปาฏิ
โมกข์ หมายถึง ศีล 227 ข้อ ซี่งเป็นพระธรรมวินัยที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติ
แต่ โอวาทปาฏิโมกข์ ที่ พระบรมศาสดาทรง
แสดงในครั้งนั้นเป็นโอวาทที่เป็นหลักประธาน ในการประกาศ พระศาสนา
โอวาทปาฏิโมกข์นั้น มีใจความสำคัญอยู่ 3 ประการ คือ
อุดมการณ์ของพระพุทธศาสนา หลักคำสอนที่สำคัญหรือหัวใจ
ของพระพุทธศาสนา และวิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
หัวใจของพระพุทธศาสนาคือหลักการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง
เมื่อเรามีอุดมการณ์มั่นคงอยู่ในใจแล้ว ควรจะดำเนินชีวิต
ต่อไปอย่างไร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทานหลักการการดำเนินชีวิตไว้ 3
ประการ ซึ่งชาวพุทธถือว่าเป็นหัวใจ ของ
พระพุทธศาสนา
1. สพฺพปาปสฺส อกรณํ การไม่ทำบาปทั้งปวง (ไม่ว่าจะด้วยกาย วาจา
หรือใจ)
2. กุสลสฺสูปสมฺปทา การบำเพ็ญกุศลให้ถึงพร้อม (ความดีหรือบุญนั้น
แม้เพียงเล็กน้อย ก็อย่าไปดูถูก ว่าจะไม่ให้ ผล
เพราะขึ้นชื่อว่าบุญ ไม่ว่ามากหรือน้อย ย่อมให้ผลเป็นความสุขทั้งนั้น)
3. สจิตฺต ปริโยทปนํ การกลั่นจิตใจของตนให้ผ่องใส (คิด พูด
ทำแต่ในสิ่งที่ดี หมั่นเจริญภาวนาให้มาก มีโยนิโสมนสิการ
คือการจับแง่คิดในทางที่ถูกต้อง จะทำให้ใจไม่ฟุ้งซ่าน ผ่องใสอยู่เสมอ)
วิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนา หรือวิธีการปรับปรุงตัวเอง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมอบ
วิธีการปรับปรุงตัว เองให้เหมาะสมที่จะเป็นกัลยาณมิตรให้แก่ตนเอง
และชาวโลกไปพร้อม ๆ กัน อยู่ 6 ประการ ซึ่งเป็นวิธีที่ล้ำลึก
ซึ่งหากใครทำตามได้นอกจากตัวเอง จะได้เป็นต้นแบบที่ดีแล้ว
การเผยแผ่พระพุทธศาสนาก็จะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ได้ผลสำเร็จอย่าง
งดงาม แน่นอนอีกด้วย
1. อนูปวาโท การไม่เข้าไปว่าร้ายกัน
(ระวังคำพูดไม่ให้เป็นการกล่าวว่าร้ายใคร หรือพูดโจมตีใคร)
2. อนูปฆาโต การไม่เข้าไปทำร้ายกัน (ระวังมือระวังเท้าไม่ให้ทำชั่ว
ไม่ว่าจะเป็นการข่มขู่หรือบังคับ)
3. ปาฏิโมกฺเข จ สงฺวโร ความสำรวมในพระปาฏิโมกข์
(สำรวมการประพฤติปฏิบัติให้อยู่ใน วินัยและศีลธรรม อันดี
ตลอดเวลา)
4. มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ เป็นผู้รู้ประมาณในภัตตาหาร
(รู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร จะทำให้สุขภาพดี ส่งผลให้
การปฏิบัติธรรมมีความเจริญก้าวหน้า)
5. ปนฺตญฺจ สยนาสนํ ที่นอนที่นั่งอันสงัด (มุ่งเจริญสมณธรรมความเงียบสงัดจะทำให้จิตใจสงบ
ใจรวมเป็นหนึ่งได้เร็ว)
6. อธิจิตฺเต จ อาโยโค ประกอบความเพียรในอธิจิต
(หมั่นทำสมาธิภาวนาโดยไม่ทอดธุระ)
กาลนี้ ศีลธรรมเริ่มเสื่อมหายลดน้อยลงไป
ขอท่านทั้งหลายพึงปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล
และเพื่อสร้างความเจริญในธรรม แด่ดวงจิตของปวงท่านเองเทอญ |