|
|
||||||||||||||
ดินแดนปัญญาชน
เฟอร์นิเจอร์ไม้สัก เรียนพิเศษในพิษณุโลก วงการครู ขนมจีน ข้อสอบ o-net a-net |
|||||||||||||||
คำแถลงนโยบายคณะรัฐมนตรีสุรยุทธ์ จุลานนท์ วันที่ 3 พฤศจิกายน 2549 เวลา ๐๙.๓๐ น. ณ อาคารรัฐสภา พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังนี้ ตามที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้กระผมเป็นนายกรัฐมนตรี ตามประกาศพระบรมราชโองการ ลงวันที่ ๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๔๙ และแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีตามประกาศพระบรมราชโองการ ลงวันที่ ๘ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๔๙ นั้น ตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คณะรัฐมนตรีจึงได้กำหนดนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อนำเรียนท่านสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติผู้ทรงเกียรติได้รับทราบถึงเจตนารมณ์และนโยบายของรัฐบาล ในประการสำคัญในอันที่จะธำรงพิทักษ์รักษาและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ มิให้ผู้ใดล่วงละเมิดได้ และมุ่งประสงค์จะแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การต่างประเทศ และความมั่นคงของชาติ เพื่อนำไปสู่เสถียรภาพและประโยชน์สุขของประชาชนชาวไทยทั้งมวล รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ ได้ระบุถึงสาเหตุของการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๙ โดยปรารถนาที่จะแก้ไขความเสื่อมศรัทธาในการบริหารราชการแผ่นดิน ความไร้ประสิทธิภาพในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ทำให้เกิดการทุจริตและประพฤติมิชอบขึ้นอย่างกว้างขวาง โดยไม่อาจหาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้ อันเป็นวิกฤติการณ์ร้ายแรงทางการเมืองการปกครอง และปัญหาความขัดแย้งในมวลหมู่ประชาชนที่ถูกปลุกปั่นให้แบ่งแยกเป็นฝักเป็นฝ่ายจนเสื่อมสลายความ รู้ รัก สามัคคี ของชนในชาติ อันเป็นวิกฤติการณ์รุนแรงทางสังคม วิกฤติการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งนับเป็นภยันตรายใหญ่หลวงต่อระบอบการปกครอง ระบบเศรษฐกิจ และความสงบเรียบร้อยของประเทศ จึงมีความจำเป็นรีบด่วนที่จะต้องฟื้นฟูความ รู้ รัก สามัคคี ระบบเศรษฐกิจและความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง การเสริมสร้างระบบการตรวจสอบการทุจริตที่เข้มแข็ง และระบบคุณธรรมที่ดีงาม การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัด การปฏิบัติตามกฎบัตรสหประชาชาติพันธกรณีตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ การส่งเสริมสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ขณะเดียวกันก็เร่งดำเนินการให้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ด้วยการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางจากประชาชน ฉะนั้น เมื่อพิจารณาจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและสถานการณ์บ้านเมือง ตลอดจนวัตถุประสงค์ที่จะเสริมสร้างสังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๐ คณะรัฐมนตรีขอนำนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินเรียนให้ท่านประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และท่านสมาชิกผู้มีเกียรติได้ทราบว่ารัฐบาลจะดำเนินการ ดังต่อไปนี้ ๑. นโยบายการปฏิรูปการเมือง การปกครอง และการบริหาร การเมืองเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปโดยราบรื่น สะท้อนความต้องการของประชาชน แต่สถานการณ์ทางการเมือง และการบริหารในช่วงเวลาที่ผ่านมา เกิดวิกฤติในศรัทธาของประชาชน ดังนั้น เพื่อแก้ไขวิกฤติทางการเมืองและการบริหาร รัฐบาลจึงกำหนดนโยบาย ดังนี้ สนับสนุนการจัดทำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับถาวร เพื่อการปฏิรูปการเมืองโดยเน้นความสำคัญที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญในทุกระดับ เสริมสร้างมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ประพฤติมิชอบ ทั้งในภาคการเมืองและภาคราชการ ทั้งในระดับท้องถิ่น และระดับชาติ ส่งเสริมองค์กรอิสระและประชาชนในการตรวจสอบการทุจริต ประพฤติมิชอบ ให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล รวมทั้งการป้องกันการกระทำที่เข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อนโดยการจัดทำพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ จัดทำแผนแม่บทพัฒนาการเมือง ที่เสริมสร้างระบบคุณธรรม จริยธรรมทางการเมือง วัฒนธรรมและการเรียนรู้ใหม่ทางการเมือง โดยการจัดตั้ง สภาพัฒนาการเมือง ให้เป็น องค์กรหลักในการดำเนินการ จัดทำแผนแม่บทการใช้ทรัพยากรสื่อสารของชาติ การใช้เครื่องมือสื่อสารของรัฐ เพื่อประโยชน์สาธารณะ และประโยชน์ต่อการศึกษาทางการเมืองแก่ประชาชน การปลูกฝังความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการเมือง ส่งเสริมเสรีภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อสารมวลชน ควบคู่กับความรับผิดชอบต่อสังคม และผลักดันให้มีกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ เพื่อจัดระบบสื่อภาครัฐ สื่อภาคเอกชนและสื่อชุมชนให้เป็นสื่อสาธารณะอย่างแท้จริง ส่งเสริมบทบาทขององค์กรภาคเอกชนและภาคประชาชน ให้มีบทบาทควบคู่กับองค์กรภาคราชการในการพัฒนาศักยภาพของประชาสังคมและชุมชนท้องถิ่น เพื่อก่อให้เกิดการรวมกลุ่มที่มีความเข้มแข็งสามารถพิทักษ์ปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของตนและสังคมไทย มุ่งเน้นการบริหารทรัพยากรบุคคลและการจัดองค์กรภาครัฐ ให้สอดคล้องกับทิศทางการนำพาประเทศไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน สังคมมีความเข้มแข็ง และประชาชนมีความสุขด้วยการดำรงชีพตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยให้การรับราชการมีความเป็นมืออาชีพ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถดำรงชีพอย่างพอเพียง มีมโนสุจริต ตลอดจนมีสมรรถนะขีดความสามารถในการให้บริการประชาชน ตามแนวทางพระราชทาน เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา สนับสนุนการกระจายอำนาจอย่างต่อเนื่อง ตามครรลองระบอบประชาธิปไตย เพื่อให้ท้องถิ่นสามารถพึ่งตนเองและปกครองตนเองได้ ตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่นนั้น ๒. รัฐบาลจะดำเนินการนโยบายเศรษฐกิจภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลยึดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
คือการใช้หลักคุณธรรมกำกับการพัฒนาเศรษฐกิจในระบบตลาดเสรี
เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากซึ่งเปรียบเสมือนรากแก้วของประเทศ
เศรษฐกิจระบบตลาด และเศรษฐกิจส่วนรวมให้มีส่วนร่วมในการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
ภายใต้กรอบความยั่งยืนและความพอดี
โดยเน้นให้ภาคเอกชนมีบทบาทนำและผนึกกำลังร่วมกับภาครัฐ และภาคประชาสังคม
เพิ่มความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจทั้งสามภาคดังกล่าว โดยมีนโยบายหลักดังนี้
จะสนับสนุนให้การพัฒนาการเกษตรตามแนวทางทฤษฎีใหม่เป็นทางเลือกสำคัญสำหรับเกษตรกรรายย่อย
ในขณะที่ขยายโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์
และยกระดับคุณภาพของผลผลิตโดยอาศัยเทคโนโลยี การจัดการ
และการเชื่อมโยงกับระบบตลาด เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาคแรงงาน ภาคเอกชน และภาครัฐ ให้ครอบคลุมถึงการพัฒนา คุณภาพและฝีมือของแรงงานในระดับต่าง ๆ เพื่อให้สามารถมีผลผลิตและรายได้สูงขึ้นตามมาตรฐาน ฝีมือแรงงาน ตลอดจนส่งเสริมให้แรงงานทุกกลุ่มมีงานทำ มีอาชีพเสริม ได้รับการคุ้มครองและดูแลด้านสุขอนามัย ความปลอดภัยในการทำงาน ตลอดจนมีหลักประกันความมั่นคง รวมทั้งสวัสดิการแรงงานอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ดูแลผู้ที่ไม่พร้อมหรือยังไม่สามารถจะปรับตัวได้ โดยการจัดสวัสดิการสงเคราะห์และบริการทางสังคมที่จำเป็นอย่างทั่วถึง ดูแลโอกาสในการเรียนรู้ การศึกษา ตลอดจนการฝึกอาชีพสำหรับคนเหล่านี้และลูกหลาน การเติบโตทางเศรษฐกิจจะต้องได้รับการดูแลมิให้เกิดผลกระทบทางลบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย เพื่อการนี้ จะปรับปรุงบทบาทของผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานภูมิภาค โดยปรับปรุงระบบความสัมพันธ์ระหว่างภูมิภาค ท้องถิ่น ชุมชน และภาคประชาสังคมอย่างเหมาะสม เพื่อร่วมกันรับผิดชอบดูแลผู้ด้อยโอกาส ตลอดจนรักษาและดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างทั่วถึง เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ ๒.๒ ภาคเศรษฐกิจระบบตลาด รัฐบาลจะดำเนินการดังนี้ ส่งเสริมให้มีการลงทุนทั้งจากในและนอกประเทศในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการแข่งขันสูงตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๐ และให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อเสริมสร้างความสามารถด้านเทคโนโลยีและการสร้างทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศเป็นส่วนรวม อาศัยความเป็นพันธมิตรระหว่างเอกชนและรัฐผนึกกำลัง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องโดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนการบริหารจัดการในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมทุกประเภท นอกจากนั้น จะให้ความสำคัญเป็นพิเศษแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ใช้ทรัพย์สินทางปัญญา ส่งเสริมและผลักดันการส่งออกสินค้าและบริการ
โดยมีภาคเอกชนเป็นกลไกขับเคลื่อน
ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจการค้าภายในประเทศ
รวมทั้งสร้างเสถียรภาพของราคาสินค้าที่มีความเป็นธรรมทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ส่งเสริมประสิทธิภาพและประหยัดการใช้พลังงาน การพัฒนาและใช้ประโยชน์พลังงานทดแทน การสำรวจและพัฒนาแหล่งพลังงานทั้งภายในประเทศหรือนอกประเทศ รวมถึงเขตพัฒนาร่วมกันกับประเทศเพื่อนบ้าน ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด กำหนดโครงสร้างราคาพลังงานที่เหมาะสม และปรับโครงสร้างการบริหารกิจการพลังงานให้เหมาะสม รวมทั้งส่งเสริมการแข่งขันในธุรกิจพลังงานในระยะยาว และการศึกษาวิจัยพลังงานทางเลือก ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานให้มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ ความโปร่งใส และวางรากฐานการทำงานอย่างเป็นระบบที่ดี สร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ ยึดมั่นความซื่อสัตย์ สุจริต คุณธรรม จริยธรรม เพื่อสร้างมาตรฐานการบริหารจัดการโครงการที่ดี และสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนตั้งแต่การวางแผนจนถึงการดำเนินโครงการ โดยขับเคลื่อนโครงการการลงทุนขนาดใหญ่ที่อยู่ในแผนแม่บทและมีความพร้อมทุกด้าน เน้นการลงทุนประเภทที่จะเพิ่มประสิทธิภาพระบบเครือข่ายการจัดการส่งสินค้าและพัสดุ การประหยัดพลังงาน และลดต้นทุนการขนส่งและปัญหามลพิษ รวมทั้งโครงการการลงทุนตลอดจนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อลดความสูญเสียที่จะเกิดจากอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ ทั้งนี้ จะจัดให้มีการจัดลำดับความสำคัญของการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ที่ชัดเจนขึ้นโดยเร็ว โครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา โดยที่ราชอาณาจักรไทยได้มีการลงทุนจำนวนมากในด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ แต่โครงสร้างพื้นฐานทางปัญญายังอยู่ในฐานะด้อยกว่าหลายประเทศ ดังนั้น รัฐบาลจะจัดทำแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญาขึ้น เพื่อเร่งรัดให้มีการสร้างปัญญาในสังคม เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจพอเพียง และเพื่อสร้างความสามารถของประเทศอย่างยั่งยืน
สร้างความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนจากทรัพยากรธรรมชาติ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศ
โดยใช้มาตรการทางเศรษฐกิจที่ผสมผสานกับหลักการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม
เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมและเกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบการค้าให้มีความทันสมัย เพื่ออำนวยความสะดวกทางด้านการค้า สร้างความเป็นธรรมและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาคเศรษฐกิจส่วนรวม รัฐบาลให้ความสำคัญแก่เป้าหมายใการเพิ่มประสิทธิภาพควบคู่ไปกับการวัดความเจริญเติบโตของผลิตภัณฑ์ประชาชาติ จะจัดทำแผนแม่บทการสร้างเสริมประสิทธิภาพแห่งชาติโดยเป็นแผนร่วมกับเอกชนสำหรับภาคเศรษฐกิจที่สำคัญ ให้เสร็จสิ้นภายใน 6 เดือน มุ่งสนับสนุนการออมในทุกระดับโดยใช้นโยบายการออมที่เหมาะสม และส่งเสริมจิตสำนึกในการประหยัดเพื่อลดหนี้สินในระดับครัวเรือนและเพื่อการดำรงชีพที่ดีในวัยสูงอายุ ดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุลเพื่อให้สามารถรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างพอเพียง และมีการลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจพร้อม ๆ กับจะเสริมสร้างวินัยทางการเงินการคลังภาครัฐ โดยการใช้จ่ายอย่างมีเหตุผลและประหยัด ๓. นโยบายสังคม รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะดำเนินการดังนี้ ส่งเสริมความรัก ความสามัคคี
ความสมานฉันท์ของคนในชาติ
ให้เกิดความร่วมมือกันในการกอบกู้และฟื้นฟูประเทศชาติในทุกด้าน
โดยการสรุปบทเรียนจากปัญหาความแตกแยกร้าวฉานและความล้มเหลวในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวในอดีต
แล้วนำมาปรับความเข้าใจของประชาชน
สร้างกระบวนการแก้ไขปัญหาที่เน้นความสมานฉันท์ของคนในชาติ
พร้อมทั้งส่งเสริมเผยแพร่ตัวอย่างของความร่วมมือที่ดีและมีความสุขของทุกชุมชนอย่างต่อเนื่อง ๔. นโยบายการต่างประเทศ รัฐบาลจะดำเนินบทบาทเชิงรุกในกรอบทวิภาคีและพหุภาคี
เพื่อสนับสนุนความปรองดองและความมั่นคงในชาติ
โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ในภาคใต้ เสริมสร้างความแข็งแกร่งของอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเร่งจัดตั้งประชาคม อาเซียน ดำเนินบทบาทสร้างสรรค์ในกรอบสหประชาชาติและกรอบพหุภาคีอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมสันติภาพ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน มนุษยธรรมและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การพัฒนาอย่างยั่งยืน การแก้ไขปัญหาข้ามชาติ และการสาธารณสุข คุ้มครองสิทธิและผลประโยชน์ของคนไทยในต่างประเทศ และเสริมสร้างบทบาทของชุมชนไทยในต่างประเทศ ๕. นโยบายการรักษาความมั่นคงของรัฐ รัฐบาลจะส่งเสริมการผนึกกำลังระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคม และภาควิชาการ เพื่อการป้องกันประเทศอย่างต่อเนื่องในยามปกติ และนำไปสู่การระดมสรรพกำลังเพื่อยกระดับขีดความสามารถของกองทัพให้เพียงพอและทันเวลาในยามไม่ปกติ ทั้งนี้ ในยามปกติรัฐบาลจะเสริมสร้างและใช้ศักยภาพของกองทัพสนับสนุนการพัฒนาพลังอำนาจของชาติทุกด้าน เพื่อให้ประเทศมีความมั่นคง มีความมั่งคั่งภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีความสมานฉันท์ สามารถป้องกัน บรรเทา และแก้ไขปัญหาที่สำคัญของชาติได้ ปัญหาการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะน้อมนำแนวทางพระราชทาน เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา และปัญหาภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ผู้ประสบภัยพิบัติ การก่อการร้าย รวมทั้งอาชญากรรมภายในประเทศและที่มีลักษณะข้ามชาติประเภทต่าง ๆ ซึ่งรวมไปถึงยาเสพติด ผู้หลบหนีเข้าเมือง แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย การค้าสิ่งของผิดกฎหมายและการค้ามนุษย์ เป็นต้น รัฐบาลจะพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพของกองทัพ ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมด้านความมั่นคง มีขีดความสามารถในการป้องกัน ป้องปราม และรักษาผลประโยชน์ของชาติ สามารถยุติความขัดแย้งได้รวดเร็ว มีระบบการข่าวที่มีประสิทธิภาพ มีขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางทหาร รวมทั้งอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เพื่อการพึ่งตนเองทางทหาร และนำไปสู่การพัฒนาขีดความสามารถเพื่อความต่อเนื่องในระบบการรบ มีระบบกำลังสำรอง ระบบการระดมสรรพกำลัง และระบบส่งกำลังบำรุงที่เหมาะสมกับสถานการณ์ภัยคุกคาม นอกจากนี้ จะสนับสนุนการสร้างความร่วมมือด้านต่างประเทศและด้านความมั่นคงกับประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศในกลุ่มอาเซียน และมิตรประเทศ เพื่อลดความหวาดระแวง สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ สร้างสันติภาพและความสงบสุข รวมทั้งสนับสนุนภารกิจเพื่อสันติภาพและปฏิบัติการเพื่อมนุษยธรรมภายใต้กรอบของสหประชาชาติและผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก
ท่านประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และท่านสมาชิกผู้มีเกียรติที่เคารพ การกำหนดนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีตามที่ได้กล่าวมานี้ กระผมขอให้ความเชื่อมั่นว่า รัฐบาลจะบริหารราชการแผ่นดินอย่างเต็มกำลังความสามารถ ให้ลุล่วงภายในเวลาอันจำกัด โดยยึดมั่นและรักษาคำสัตย์ปฏิญาณที่ได้ถวายต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสที่เข้ารับหน้าที่ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และด้วยความตั้งใจอย่างแน่วแน่แท้จริง
ขอบคุณครับ
|
|||||||||||||||
|
|||||||||||||||