ข้อมูลจาก...หนังสือธรรมเนียมราชตระกูลในกรุงสยาม,
หนังสือเฉลิมพระยศเจ้านาย 2546
เรียบเรียงโดย แก้ว ณ net
สกุลยศ คือ ยศที่เจ้านายในราชตระกูลได้มาตั้งแต่เกิด
ซึ่งบรรดาผู้ที่เกิดในราชตระกูลจะเป็นราชบุตร ราชธิดา หรือราชนัดดาก็ตาม
ย่อมเรียกว่า "เจ้า"
อันคำว่าเจ้านี้เป็นคำที่ถือว่าเป็นเกียรติยศของราชตระกูลมาตั้งแต่โบราณ
โดยในราชอาณาจักรไทยได้มีการลำดับชั้นสกุลยศของเจ้านาย แบ่งออกเป็น 6 ชั้น
ดังนี้
ชั้นที่ 1 คือ สมเด็จหน่อพุทธเจ้า
ผู้ทรงเป็นพระบรมราชโอรสพระองค์ใหญ่ อันเกิดจากสมเด็จพระอัครมเหสี
ชั้นที่ 2 คือ เจ้าฟ้า
เป็นเจ้าที่มีราชสกุลยศชั้นสูง
ซึ่งแต่เดิมคำว่าเจ้าฟ้านี้ชาวเมืองไทยใหญ่ใช้เรียกกษัตริย์ของตน
โดยปรากฏพระยศเจ้าฟ้าในสยามประเทศครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2111 ครั้งพระเจ้าบุเรงนองเอาแบบอย่างประเทศราชไทยใหญ่
มาตั้งสมเด็จพระมหาธรรมราชาเมื่อครั้งครองเมืองพิษณุโลกว่า "เจ้าฟ้าสองแคว"
ต่อมาในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถ
จึงได้นำคำว่าเจ้าฟ้านี้มาใช้เป็นสกุลยศสำหรับพระราชกุมาร
โดยพระยศเจ้าฟ้านี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท
ประเภทที่ 1 เจ้าฟ้าชั้นเอก
คือพระเจ้าลูกเธอ
อันเกิดจากสมเด็จพระอัครมเหสีหรือพระราชมารดาที่ทรงเป็นพระราชธิดาของพระเจ้าแผ่นดิน
เรียกเจ้าฟ้าชั้นนี้ว่า "ทูลกระหม่อม" เช่น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สยามบรมราชกุมารี ซึ่งชาววังขานพระนามพระองค์ว่า ทูลกระหม่อมน้อย
เนื่องจากทรงเป็นพระราชธิดาอันเกิดจากสมเด็จพระอัครมเหสี(พระบรมราชินีนาถ)
ประเภทที่ 2 เจ้าฟ้าชั้นโท
คือพระเจ้าลูกเธอ
อันเกิดจากพระราชมารดาที่เป็นหลานหลวง(หลานของพระเจ้าแผ่นดินโดยตรง)
หรือพระราชมารดาเป็นพระองค์เจ้า เรียกเจ้าฟ้าชั้นนี้ว่า "สมเด็จ" เช่น
สมเด็จพระเจ้าภคนีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
ทรงเป็นพระราชธิดาในรัชกาลที่ 6 ซึ่งเกิดจาก พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี
ชั้นที่ 3
คือผู้ดำรงราชสกุลยศรองลงมาจากเจ้าฟ้าเป็น
"พระองค์เจ้า" โดยพระองค์เจ้าแบ่งออกเป็น 3 ลำดับชั้น คือ
ลำดับที่ 1 พระราชบุตร พระราชบุตรี ของพระเจ้าแผ่นดิน
อันเกิดจากเจ้าจอมมารดาหรือพระสนม ตรงกับที่เรียกในกฎมณเฑียรบาลว่า "พระเยาวราช"
เช่น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์
พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับเจ้าจอมมารดาตลับ
ลำดับที่ 2 พระบุตร พระบุตรี
ของกรมพระราชวังบวรสถานมงคลฝ่ายหน้า
(ปัจจุบันไม่มีตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลแล้ว)
ลำดับที่ 3 พระบุตร พระบุตรี
ของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุขฝ่ายหลัง อันเกิดจากบาทบริจาริกา
(ปัจจุบันไม่มีตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานพิมุขแล้ว)
ลำดับที่ 4 คือพระราชนัดดา
ซึ่งเป็นพระบุตร พระบุตรี ของเจ้าฟ้า เจ้าต่างกรม หรือพระองค์เจ้า
ที่มีพระมารดาเป็นพระองค์เจ้า ลูกก็เป็นพระองค์เจ้า เช่น พระเจ้าหลานเธอ
พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา พระธิดาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์
สยามมกุฎราชกุมาร กับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ
ลำดับที่ 5 หม่อมเจ้าซึ่งเป็นพระบุตร
พระบุตรีของเจ้าต่างกรม
หรือพระองค์เจ้าซึ่งเป็นองค์ใหญ่หรือได้รับราชการมามาก
หรือเป็นที่คุ้นเคยในพระเจ้าแผ่นดิน ก็ทรงยกขึ้นเป็นพระองค์เจ้า เช่น
หม่อมเจ้าอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) พระโอรสในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช
กรมหลวงสงขลานครินทร์ กับหม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา
(พระบรมราชชนกและพระบรมราชชนนีในรัชกาลปัจจุบัน) ในสมัยรัชกาลที่ 7
ทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล
ชั้นที่ 4 ราชสกุลยศรองลงมาจากพระองค์เจ้าคือ
หม่อมเจ้า ผู้ซึ่งมีพระบิดาเป็นเจ้าฟ้าหรือพระองค์เจ้า
แต่พระมารดามิได้เป็นเจ้า และพระบุตร
พระบุตรีของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข(ปัจจุบันไม่มีตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานพิมุขแล้ว)
ซึ่งมิได้เกิดด้วยบาทบริจาริกา เช่น หม่อมเจ้าสิริวรรณวดี มหิดล
พระธิดาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามมกุฎราชกุมาร
กับหม่อมสุจาริณี
ชั้นที่ 5 หม่อมราชวงศ์
เป็นลูกของหม่อมเจ้า เป็นคำที่เพิ่งใช้กับราชการเมื่อสมัยรัชกาลที่ 4
ชั้นที่ 6 หม่อมหลวง
เป็นลูกของหม่อมราชวงศ์ แต่เดิมตามประกาศในสมัยรัชกาลที่ 4
หม่อมหลวงเป็นชั้นเดียวกับหม่อมราชวงศ์ ถึงรัชกาลที่ 5
จึงโปรดให้ลดลงมาใช้เรียกบุตรหม่อมราชวงศ์
โดยราชสกุลยศนี้นับหม่อมหลวงเป็นที่สุด
|