ช่องทางในการใช้สิทธิของประชาชนต่อศาลรัฐธรรมนูญ
ผู้เรียบเรียง นายปีดิเทพ อยู่ยืนยง*
บทนำ
คำถามยอดนิยมที่ผมได้ยินบ่อยมาก
ศาลรัฐธรรมนูญนี้ฟ้องได้เลยหรือเปล่าเหมือนกับศาลยุติธรรมหรือศาลปกครองหรือไม่
เพื่อให้เกิดความกระจ่างแก่ผู้ไม่ทราบในประเด็นนี้
จึงขออธิบายสั้นๆแบบได้ใจความดังนี้
สิทธิของประชาชนในการใช้สิทธิการเสนอคดีต่อศาลในคดีแพ่งหรือคดีอาญา
ประชาชนย่อมสามารถทำได้โดยตรงอยู่แล้ว
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและวิธีพิจารณาความอาญา ในคดีปกครอง
ประชาชนย่อมสามารถเสนอคดีต่อศาลได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง
พ.ศ.๒๕๔๒ แต่สำหรับคดีที่เป็นปัญหาเกี่ยวกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ
โดยอาจเป็นเพราะกฎหมายที่ใช้บังคับขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญ
ซึ่งอาจทำให้ประชาชนไม่ได้รับความคุ้มครองหรือถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีกระบวนการเสนอคดีขึ้นสู่การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
ซึ่งแม้ว่าประชาชนจะไม่สามารถฟ้องคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยตรง
ก็ตาม แต่กฎหมายก็ได้เปิด ทางอ้อมที่สามารถนำคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
บทความนี้จะนำเสนอถึงช่องทางการใช้สิทธิของประชาชนต่อศาลรัฐธรรมนูญ
ว่าสามารถใช้สิทธิได้กี่ช่องทาง และตัวบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง
ช่องทางแรก :
การใช้สิทธิทางช่องทางศาล (รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
พ.ศ.๒๕๔๐ มาตรา ๒๖๔)
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐ มาตรา ๒๖๔ ได้บัญญัติไว้ว่า
ในกรณีที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด
ศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา ๖
และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้นให้ศาลรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว
และส่งความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการเพื่อศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัย
ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าคำโต้แย้งของคู่ความตามวรรคหนึ่ง
ไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย
ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาก็ได้
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ใช้ได้ในคดีทั้งปวง
แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด จากบทบัญญัติในข้างต้น
หมายความว่า สิทธิของประชาชนที่จะนำเสนอคดีต่อศาลโดยตรงนั้นย่อมมิอาจมีได้
นั้นหมายความว่า ต้องให้ศาลยุติธรรม (ศาลแพ่ง ศาลอาญา หรือศาลชำนัญพิเศษอื่นๆ)
หรือศาลปกครองหรือศาลทหารก็ได้ เป็นผู้ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย
โดยการส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญนั้น
ต้องเป็นกรณีของศาลปกครองหรือศาลยุติธรรมหรือศาลทหาร
เห็นว่าบทบัญญัติของกฎหมาย(ซึ่งต้องเป็นกฎหมายในความหมายของรัฐธรรมนูญ อันได้แก่
พระราชบัญญัติ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ และพระราชกำหนด เท่านั้น)
ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ตามหลักของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๖
ซึ่งจะเป็นกรณีที่ศาลปกครองหรือศาลยุติธรรม หรือศาลปกครองหรือศาลทหาร
เห็นว่ากฎหมายดังกล่าวขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ
และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบทบัญญัตินั้น
ทั้งนี้
ต้องรอการพิจารณาในส่วนที่มีปัญหาข้อโต้แย้งเสียก่อนเป็นการชั่วคราวเพื่อรอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าบทบัญญัติดังกล่าวขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่๑
ช่องทางที่สอง
: การใช้สิทธิโดยผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ((รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
พ.ศ.๒๕๔๐ มาตรา ๑๙๘)
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐ มาตรา ๑๙๘ ได้บัญญัติว่า
ในกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเห็นว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ
หรือการกระทำใดของบุคคลใดตามมาตรา ๑๙๗ (๑) มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองเพื่อพิจารณาวินิจฉัย
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
หรือกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลปกครอง แล้วแต่กรณี
ให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครอง แล้วแต่กรณี
พิจารณาวินิจฉัยเรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเสนอตามวรรคหนึ่งโดยไม่ชักช้า
ซึ่งจากบทบัญญัติดังกล่าว
ได้วางเกณฑ์ไว้ว่าประชาชนสามารถเข้าร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
โดยให้ว่ากฎหมายขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่
ได้แกปัญหาดังกล่าวต้องเป็นปัญหาว่ากฎหมายนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่
ซึ่งเมื่อประชาชนร้องเรียนไปแล้ว
ผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภาก็จะเสนอความเห็นมายังศาลรัฐธรรมนูญ
เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาความชอบด้วยกฎหมายต่อไป
เหตุที่กฎหมายบัญญัติไม่สามารถให้สิทธิแก่ประชาชน
สามารถฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง คงเป็นเพราะ
หากเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ฟ้องคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรงแล้ว
คดีคงจะล้นโรงล้นศาลเป็นแน่แท้
และเพื่อให้เกิดการกลั่นกรองประเด็นปัญหาที่สำคัญจริงๆ
จึงสามารถส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาได้
แต่ทั้งนี้ต้องมีช่องทางพิเศษที่ไม่เหมือนกับศาลทั่วๆไป อันถือเป็นการใช้สิทธิ
ทางอ้อมในการเสนอคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญ.
* นักศึกษาปริญญาโท
สาขาวิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ(เอแบค)
๑.ความรู้เบื่องต้นเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญ , กรุงเทพฯ:สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ , ๒๕๔๘
ร่วมสนับสนุนเรา โดยการทำ link มาหาเรานะครับ เฟอร์นิเจอร์ไม้สัก พรมลายน่ารัก มะขาม ขนมจีน ข้อสอบ o-net a-net สอบบรรจุครู