เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก
เมื่อวันพุธที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา
ผมได้รับการสัมภาษณ์จากสื่อมวลชนเรื่องข่าวเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นของรัฐบาลที่พ.ต.ท.ทักษิณ
ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
อาจไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาได้มากนัก
หากรัฐบาลชุดนี้ยังเป็น ‘รัฐบาลลวง’
การที่นายกรัฐมนตรีกล่าวปาฐกถาเรื่องแนวทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจระยะสั้น
ไปเมื่อวันอังคารที่12 กรกฎาคม
โดยรัฐบาลเรียกร้องให้ประชาชนเชื่อมั่นในรัฐบาล ผมเห็นว่า
อาจไม่สามารถทำให้ประชาชนเชื่อมั่นได้
หากรัฐบาลยังคงสร้างภาพลวงอยู่
ประการแรก ลวงด้วยความจริงเพียงบางด้าน ผมเห็นด้วยว่า
ตัวเลขทางเศรษฐกิจในปัจจุบันบางตัวยังดีอยู่
แต่บางตัวมีแนวโน้มน่าเป็นห่วง
ซึ่งรัฐบาลพยายามไม่บอกให้ประชาชนทราบ ตัวอย่างเช่น
ราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้นจริง
แต่สูงขึ้นเพราะภัยแล้งทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย
แม้ว่ารายได้ของผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญเพิ่มขึ้น 19.7% แต่
GDP ภาคเกษตรติดลบ 8.2%
ขณะที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงอย่างต่อเนื่อง
ไม่ได้ดีอย่างที่นายกบอก
รวมทั้งการส่งออกที่เป็นไปได้ยากมากที่จะเข็ญให้โตถึง 20%
สอง ลวงด้วยนโยบายที่ไม่สมจริง
นั่นคือนโยบายเพิ่มรายได้และลดรายจ่าย โดยขึ้นค่าตอบแทน
และอัดฉีดเงินลงทุนของภาครัฐ เพื่อขยายการจ้างงาน
ซึ่งดูเหมือนเหมาะสมกับภาวะค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น
แต่การกระตุ้นด้านอุปสงค์ ยิ่งทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น
อาจทำให้รายได้ที่แท้จริงไม่เพิ่มขึ้นมากนัก
และอาจทำให้การว่างงานเพิ่มขึ้นด้วย
เพราะนายจ้างมีต้นทุนสูงขึ้น อาจทำให้ต้องปลดคนงานออก
สาม ลวงด้วยความคลุมเครือของนโยบาย โดยเฉพาะ
โครงการเมกะโปรเจกต์ที่ยังไม่มีความชัดเจนของโครงการ
รัฐบาลไม่สามารถชี้แจงเหตุผล เพื่อคลายข้อกังวลต่าง ๆ ได้ อาทิ
รายละเอียดของการลงทุนในโครงการต่าง ๆ ยังไม่มีความชัดเจน
การเร่งลงทุนจะทำให้เกิดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างรุนแรงและเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นหรือไม่
แนวทางการระดมทุนเป็นอย่างไร มีความน่าสนใจในการลงทุนหรือไม่
และจะกลายเป็นภาระต่องบประมาณในอนาคต เพราะรัฐต้องชำระหนี้
และอุดหนุนอย่างไม่สิ้นสุดหรือไม่
ประการสุดท้าย ลวงว่ารัฐบาลโปร่งใส
รัฐบาลพยายามปกป้องว่าคนในรัฐบาลไม่มีการทุจริต
แต่การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ 1.7 ล้านล้านบาท
ยังไม่มีแนวทางที่สร้างความมั่นใจได้ว่า
จะไม่เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน เหมือนโครงการที่ผ่านมา
ขณะที่รัฐบาลไม่ได้ทำสงครามปราบปรามคอร์รัปชัน
ตามที่ได้สัญญาอย่างจริงจัง
ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องคิดให้รอบคอบมากขึ้นและปรับเปลี่ยนวิธีคิดของรัฐบาลที่พยายามกระตุ้นในเรื่องของจิตวิทยา
โดยให้นำเสนอภาพจริงของภาวะเศรษฐกิจ
เพื่อให้ประชาชนได้เตรียมพร้อมรับมือกับปัญหา
และเกิดการลงทุนที่สมจริงอันจะนำมาซึ่งการแก้ไขวิฤตการณ์ให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี
|