วันอาสาฬหบูชา

        วันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 หรือ ราวเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นวันพระจันทร์เสวยอาสาฬหฤกษ์ แต่หากตรงกับปีอธิกมาส คือ มีเดือน 8 สองหน วันอาสาฬหบูชาจะเลื่อนไปเป็นวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 หลัง ตกในราวเดือนสิงหาคม

          "อาสาฬหบูชา" ย่อมาจากคำว่า "อาสาฬหปุรณมีบูชา" แปลว่า การบูชาในวันเพ็ญเดือนอาสาฬห คือ เดือน 8 ถือเป็นวันสำคัญวันหนึ่งในพระพุทธศาสนา เพราะมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น 3 ประการ ดังนี้

          1. เป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา คือ แสดงธรรมเป็นครั้งแรก มีชื่อว่า ธรรมจักกัปปวัตนสูตร ซึ่งมีใจความสำคัญกล่าวถึงอริยสัจ หรือความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ ได้แก่ 
          ทุกข์ คือ ความลำบาก ความไม่สบายกายไม่สบายใจ,
          สมุทัย คือ เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์,
          นิโรธ คือ ความดับทุกข์, และ
          มรรค คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งทุกข์

          การแสดงธรรมครั้งแรกนี้ เพื่อโปรดเหล่าปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 คือ อัญญาโกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ จึงถือกันว่าเป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศพระศาสนา

          2. เป็นวันที่เกิดสังฆรัตนะ หรือเป็นวันที่เกิดพระอริยสงฆ์ สาวกในพระพุทธศาสนาขึ้นครั้งแรกในโลก พระอริยสงฆ์สาวกองค์แรกคือ พระอัญญาโกณฑัญญะ ซึ่งเมื่อพระธรรมเทศนาธรรมจักกัปปวัตนสูตรแล้ว บังเกิดดวงตาเห็นธรรมทูลขอบวช ซึ่งพระพุทธองค์ประทานอนุญาตให้อุปสมบทเป็นภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา 
ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา ในวันนี้ 

          3. เป็นวันที่พระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เกิดขึ้นครบ 3 ประการ และเป็นครั้งแรกในโลก

          เหตุการณ์ในวันอาสาฬหบูชานี้ เกิดขึ้นหลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ ในวันเพ็ญวิสาขะ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 แล้วสองเดือน 

 

ประวัติการประกอบพิธีอาสาฬหบูชา

 จุดมุ่งหมายในการประกอบพิธีในวันอาสาฬหบูชา เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญทั้ง 3 ประการ ที่เกิดขึ้นในสมัยพุทธกาล และน้อมนำเอาคำสั่งสอนมาเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติ 

          การประกอบพิธีในวันสำคัญนี้ แบ่งออกเป็น 3 อย่าง คือ 

                    1. พิธีหลวง
                    2. พิธีราษฎร์
                    3. พิธีสงฆ์

          สำหรับพิธีหลวงและพิธีราษฎร์นั้น มีการปฏิบัติเช่นเดียวกับวันมาฆบูชา และวันวิสาขบูชา คือ มีการถือศีล ปฏิบัติธรรม เวียนเทียน และฟังพระธรรมเทศนา เป็นต้น จะมีเปลี่ยนแปลงเฉพาะการกล่าวถึงประวัติความเป็นมาของวันสำคัญนี้  

          ในส่วนของพิธีสงฆ์ เมื่อถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 จะมีการสวดมนต์ทำวัตรเย็นหรือตอนค่ำ แล้วสวดธรรมจักกัปปวัตนสูตร หรือ พิธีการอื่นๆ ซึ่งแล้วแต่ทางวัดจะเป็นผู้กำหนด และมีพิธีเวียนเทียนเช่นเดียวกับวันมาฆบูชาและวันวิสาขบูชา 

          ข้อเสนอแนะ ในวันอาสาฬหบูชา 

          - ควรไปร่วมพิธีเวียนเทียน เพื่อสืบทอดประเพณีอันดีงามของไทย และเป็นการร่วมกิจกรรมในวันสำคัญทางศาสนา
          - ตามสถานที่ราชการ สถานที่ศึกษา และที่วัด ควรจัดให้มีนิทรรศการ การบรรยายฉายสไลด์ หรือบรรยายธรรม เกี่ยวกับวันอาสาฬหบูชาฯลฯ เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนและผู้สนใจทั่วใจ
 

        วันแสดงปฐมเทศนา วันที่วงล้อธรรมเริ่มหมุนเพื่อประโยชน์สุขแห่งมวลมนุษย์โลก
        เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในวันเพ็ญ เดือน ๖ หรือวันวิสาขบูชาแล้ว ได้ทรงประทับเสวยวิมุตติสุข(ความสุขที่เกิดจากความสงบ) อยู่ ณ บริเวณที่ตรัสรู้ตลอด ๗ สัปดาห์

หลังจากนั้นได้ทรงพิจารณาว่าธรรมะที่พระองค์ตรัสรู้นี้มีความลึกซึ้งละเอียดอ่อน ยากที่คนธรรมดาสามัญจะเข้าใจ ทำให้ทรงท้อพระทัยในชั้นแรก แต่ด้วยพระมหากรุณาที่ทรงมีต่อมนุษยชาติ และเล็งเห็นว่าคนในโลกนี้ที่ยังเรียนรู้ได้สามารถแบ่งออกเป็น ๔ เหล่า เปรียบเหมือนดอกบัว ๔ ประเภทคือ



        ๑.อุคฆติตัญญู คือ พวกที่มีปัญญาไว บอกอะไรก็เข้าใจได้ทันที เหมือนบัวที่โผลพ้นน้ำแล้ว พร้อมจะบานเมื่อได้รับแสงอาทิตย์

        ๒.วิปัจจิตัญญู คือ พวกที่จะรู้ธรรมได้ต้องอธิบายขยายความกันยาวๆ จึงจะเข้าใจความหมาย เหมือนบัวที่อยู่เสมอน้ำ จักบานในวันต่อไป

        ๓.เนยยะ คือ พวกที่ต้องใช้ความพากเพียร ฟัง คิด ถามท่องอยู่เสมอจึงจะเรียนรู้ได้ เปรียบเหมือนบัวที่ยังไม่โผล่พ้นน้ำ แต่เมื่อได้รับการหล่อเลี้ยง ก็สามารถจะโผล่ไปบานในวันต่อๆไป

        ๔.ปทปรมะ ได้แก่ พวกปัญญาอ่อน หรือพวกที่ฟัง คิด ถาม ท่องแล้วก็ยังไม่สามารถรู้ธรรมได้ เปรียบเหมือนบัวที่ติดกับเปือกตม รังแต่จะกลายเป็นอาหารของปลา เต่าต่อไป

        เมื่อทรงพิจารณาใคร่ครวญดังกล่าวแล้วก็คิดถึงบุคคลที่จะไปโปรด โดยทรงคิดถึงอาฬารดาบสและอุททกดาบส พระอาจารย์ที่เคยสั่งสอนพระองค์มาก่อนเป็นอันดับแรกแต่ท่านทั้งสองก็สิ้นชีพไปแล้ว จึงทรงระลึกถึงปัญจวคีย์ผู้เคยมีอุปการคุณแก่พระองค์


        ดังนั้น จึงได้เดินทางไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน (คือสวนกวาง ดังนั้น กวางจึงเป็นสัญลักษณ์หนึ่งคู่กับธรรมจักร) ที่เมืองพาราณสีเพื่อโปรดปัญจวัคคีย์ ซึ่งได้เสด็จถึงเมื่อเย็นวันขึ้น ๑๔ ค่ำเดือน ๘ และในวันรุ่งขึ้นคือ วันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๘ หรือวันอาสาฬหบูชา ที่มีความหมายว่า การบูชาในวันเพ็ญ เดือนอาสาฬหะ หรือเดือน ๘ ก็ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญๆขึ้นหลายประการ คือ


        ๑.เป็นวันที่พระพุทธเจ้าได้ทรงประกาศพระศาสนาเป็นครั้งแรก ด้วยการแสดงปฐมเทศนา ที่มีชื่อว่า “ธรรมจักกัปปวัตนสูตร” ซึ่งหมายถึง พระสูตรว่าด้วยการยังธรรมจักรให้เป็นไป นั่นคือ ธรรมะของพระพุทธองค์เหมือนวงล้อธรรมที่ได้เริ่มเคลื่อนแล้วจากจุดเริ่มต้นในวันนี้

        ๒.เมื่อพระโกณฑัญญะ หนึ่งในปัจวัคคีย์ได้ฟังธรรม ก็เกิดดวงตาเห็นธรรม คือ เห็นจริงตามที่พระพุทธองค์ทรงเทศนา จึงได้ทูลขอบวช ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ทรงบวชให้ด้วยวิธี “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” (การบวชที่พระพุทธเจ้าทรงประทานให้ด้วยการเปล่งวาจาให้เข้ามาเป็นพระภิกษุได้) ดังนั้น พระโกณฑัญญะจึงเป็นเป็นสาวกองค์แรกในพุทธศาสนา และ

        ๓.ทำให้วันนี้เป็นวันที่มีพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ครบเป็นองค์พระรัตนตรัย เป็นครั้งแรกในโลก อนึ่ง เนื้อหาของ “ธรรมจักกัปปวัตนสูตร” อันพระธรรมเทศนาครั้งแรกเป็นการสอนมิให้ประพฤติที่สุดโต่ง ๒ ส่วนคือ ๑.กามสุขัลลิกานุโยค คือ การหมกมุ่นมัวเมาในกามสุข และ๒.อัตตกิลมถานุโยค คือ การทรมานตัวให้ลำบาก แต่ให้เดินตามสายกลางคือ มัชฌิมาปฏิปทา อันเป็นข้อปฏิบัติที่สมควรไม่ตึงหรือหย่อนเกินไป เรียกว่าอริยมรรค อันประกอบด้วยองค์ ๘ คือ ๑.สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ ๒.สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ ๓.สัมมาวาจา เจรจาชอบ

        ๔.สัมมากัมมันตะ การประพฤติชอบ ๕.สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ ๖.สัมมวายะมะ เพียรชอบ๗.สัมมาสติ ระลึกชอบ และ ๘.สัมมาสมาธิ ตั้งใจมั่นชอบ


         จากนั้นทรงสรุปด้วยอริยสัจ ๔ คือ หลักความจริงของชีวิต ซึ่งประกอบด้วย ทุกข์ ความไม่สบายกายและใจ สมุหทัย เหตุให้เกิดทุกข์ นิโรธ ความดับทุกข์ และมรรค ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
 

        การแสดงปฐมเทศนาเป็นครั้งแรก กับการมีพระพุทธสาวกองค์แรกจนก่อให้เกิดพระรัตนตรัยเมื่อ ๒๕๐๐ กว่าปีก่อน แม้จะเป็นองค์ประกอบให้วันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญวันหนึ่งทางพุทธศาสนา แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ หลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ เพราะโดยแท้จริงแล้ว ไม่ว่าจะมีพระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม แต่ธรรมะหรือสัจธรรมก็เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในโลก เพียงแต่ไม่มีใครรู้หรือไม่มีใครนำมาสั่งสอนหรือบอกกล่าวให้เราทราบและปฏิบัติเท่านั้น แต่เพราะมีพระพุทธเจ้าเป็นผู้ค้นพบหลักธรรม แล้วนำมาสั่งสอนต่อประชาชนชาวโลก เราจึงได้เกิดความรู้ ความเข้าใจในธรรมะนั้น ทำให้เรามีหนทางเลือกที่จะดำรงชีวิตอยู่ด้วยความสุขและปราศจากทุกข์ตั้งแต่ระดับง่ายๆจนถึงขั้นลึกซึ้งในระดับนิพพาน พระพุทธเจ้าจึงทรงมีพระคุณอันยิ่งใหญ่ต่อมวลมนุษยชาติ

        กล่าวกันว่าธรรมะหรือความรู้ที่พระองค์นำมาสั่งสอนชาวโลกนั้น ถ้าเทียบกับใบไม้ทั้งป่า ก็ทรงหยิบมาเพียงกำมือเดียวเท่านั้น แต่กระนั้นก็ยังทรงคุณค่ายิ่ง อยู่ที่เราจะรู้จักเลือกมาใช้หรือไม่อย่างไรเท่านั้น ถ้าจะเปรียบแล้ว พระพุทธองค์ก็ทรงเหมือนผู้ที่สร้างแผนที่ คือนำหลักธรรมที่เป็นเหมือนทางเดินที่มีอยู่แล้วมาทำเป็นแผนที่ชีวิตให้เราได้เลือกเดินว่าจะไปในทางใด ไม่ว่าจะเป็นทางโลกหรือทางธรรมก็มีให้ศึกษาขึ้นอยู่กับเราว่าจะใช้แผนที่นั้นหรือไม่ หรือจะเดินเปะปะไปอย่างไร้ทิศทาง และพระสงฆ์ผู้สืบทอดพระพุทธศาสนาก็เป็นเหมือนดังมัคคุเทศก์ ที่จะช่วยชี้แนะทางตามแผนที่ให้เราเข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น


        ในส่วน “มัชฌิมาปฏิปทา” หรือ ทางสายกลาง อันได้แก่ข้อควรปฏิบัติในการดำเนินชีวิตที่เรียกว่า มรรคมีองค์ ๘ นั้น ในหนังสือ “วันอาสาฬหบูชา” ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) ได้กล่าวอธิบายถึงมรรคมีองค์ ๘ พอสรุปได้ว่า


        สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบหรือปัญญาเห็นชอบ คือ การเห็นอริยสัจ ๔ ตามสภาพความเป็นจริงว่าอะไรคือทุกข์ อะไรทำให้เกิดทุกข์ รู้การดับทุกข์ และรู้แนวทางที่จะดับทุกข์

        สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบหรือความคิดชอบ คือ ความนึกคิดที่จะทำตนให้ออกห่างจากสิ่งยั่วยวนต่างๆ รวมทั้งการไม่คิดพยาบาทอาฆาตผู้อื่น มีจิตใจที่เมตตาต่อผู้อื่น

        สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือการงดเว้นจากการพูดเท็จ พูดส่อเสียดยุยง หรือพูดเพ้อเจ้อเหลวไหล ให้พูดแต่สิ่งที่ดี มีประโยชน์ต่อผู้อื่น

        สัมมากัมมันตะ การประพฤติชอบ คือ การมีศีล อันได้แก่ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักขโมย ไม่ประพฤติในกาม ไม่ทำความเดือนร้อนให้ผู้อื่น เป็นต้น

        สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ สำหรับบรรพชิต(นักบวช) คือ ดำรงชีพด้วยการบิณฑบาต งดการแสวงหาในสิ่งที่ไม่สมควร ส่วนฆราวาส คือ การประกอบอาชีพที่ถูกต้องตามกฎหมายและศีลธรรม

        สัมมวายะมะ เพียรชอบ คือ การเพียรไม่ให้ความชั่วเกิดขึ้น หรือเพียรละความชั่วที่มีอยู่ให้น้อยลง เพียรให้ความดีเกิดขึ้น และเพียรให้ความดีที่มีอยู่แล้วให้คงอยู่ตลอดไป


        สัมมาสติ ระลึกชอบ คือ การฝึกด้านสมาธิ หรือการทำใจให้เป็นสมาธิ ให้มีสติรู้ตัวตลอดเวลา

        สัมมาสมาธิ ตั้งใจมั่นชอบ คือ การอบรมจิตให้สงบ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว เป็นการฝึกจิตขั้นสูงขึ้นไป


        นับตั้งแต่วันแสดงปฐมเทศนา “ธรรมจักกัปปวัตนสูตร อันเป็นวันที่กงล้อแห่งธรรมได้เริ่มต้นหมุนเป็นครั้งแรก นั่นก็หมายถึงหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ได้เริ่มเผยแผ่ไปยังชาวโลกเพื่อความสุขของมวลมนุษย์ชาติ

        ดังนั้น ในโอกาสที่วันอาสาฬหบูชา ได้เวียนมาบรรจบอีกครั้งหนึ่งในวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๔๘ นี้ กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จึงขอเชิญชวนให้พุทธศาสนิกชนอย่าแค่เพียงรำลึกว่าวันนี้สำคัญเช่นไรเท่านั้น แต่ขอให้ดำเนินชีวิตตามรอยพระพุทธองค์เพื่อประโยชน์สุขทั้งแก่ตัวเรา และเพื่อนร่วมโลกด้วยพระพุทธเจ้าตรัสว่า “ผู้ที่เห็นธรรม ได้ชื่อว่าเห็นเรา (ตถาคต)”


 

อ้างอิง  รวบรวมจาก

ประเพณี พิธีมงคล และวันสำคัญของไทย. กรุงเทพฯ : ชมรมเด็ก, 2539. 
อมรรัตน์ เทพกำปนาท กลุ่มประชาสัมพันธ์
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม

อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://www.seal2thai.org/sara/sara009.htm

ร่วมสนับสนุนเรา โดยการทำ link มาหาเรานะครับ เฟอร์นิเจอร์ไม้สัก พรมลายน่ารัก มะขาม ขนมจีน ข้อสอบ o-net a-net สอบบรรจุครู

    วัตถุมงคล อ.หนู กันภัย  มะขาม

[หน้าแรก] [รวมสาระ] [webboard]   counter power by seal2th