รางวัลวิทยาศาสตร์สู่ความเป็นเลิศ

   มีหลายคนบอกว่า ผมเป็นนักล่ารางวัล แท้จริงแล้ว สิ่งที่ผมทำคือการกระทำเพื่อเด็กนักเรียนของผม...

   ผมได้มีโอกาสได้รู้เรื่องของการประกาศการส่งรายชื่อเพื่อเสนอขอพิจารณาเพื่อรับรางวัลวิทยาศาสตร์สู่ความเป็นเลิศ ของคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสารและโทรคมนาคม วุฒิสภา เมื่อคราวที่ไปอบรม inspiring science เมื่อวันที่ 17 - 18 กรกฎาคม 2555 ณ ห้องประชุม AOC สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิษณุโลก เขต 1 ซึ่งวันที่ได้รับข่าวสารนั้น ก็เกือบจะหมดเวลาส่งรายชื่อแล้ว

  

   ผมใช้เวลา 4 วัน ในการรวบรวมข้อมูลประวัติส่วนตัว และจัดเตรียมสื่ออุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งก็ได้มองเห็นข้อดีของการปรับปรุงประวัติและผมงานของตัวเองให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด (นึกถึงโฆษณาชิ้นหนึ่งที่เขากล่าวว่า โอกาสเป็นของคนที่พร้อมเสมอ) ผมเชื่อว่า หากครูท่านอื่นมีเวลาในการจัดเตรียมข้อมูล ประวัติ และผลงาน พวกท่านอาจประสบความสำเร็จมากกว่าผมเป็นแน่ 

    (ส่วนประวัติและผลงานทั้งหมดที่สามารถนำมาลงไว้ในเว็บไซต์ได้ ผมนำมาลงไว้ที่นี่ครับ ครูแชมป์)

   

ตอนแรกก็เห็นว่าหายเงียบไป ก็คิดว่าคงไม่ผ่านการพิจารณาแน่ๆ เพราะผลงานที่ส่งไปนั้น ไม่ได้ยิ่งใหญ่ จำกัดด้วยงบประมาณ และทำด้วยความพอเพียง

   การส่งผลงานต่างๆนั้น เจตนาที่แท้จริงลึกๆในใจผมนั้น คือการทำเป็นแบบอย่างให้เด็กๆของผมดู อีกประการหนึ่ง คือการแสวงหาหนทางที่ทำให้หน่วยงาน รวมถึงคนทั้งหลายได้รู้จักชื่อโรงเรียนวัดยางแขวนอู่ เพราะผมมุ่งหวังว่า หลายคนอาจเหลือบตามองมา และให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆกับเราบ้าง (ขอบ่นนิดนึงนะครับ)

  
   ประมาณวันที่ 12 กันยายน 2555 ขณะที่ผมกำลังเตรียมข้อมูลในการเป็นวิทยากร
Tablet โครงการ OTPC ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิษณุโลก เขต 1 ทางเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการธิการวิทยาศาสตร์ฯ วุฒิสภา ได้โทรมาสอบถามผมว่า หากจะเดินทางไปที่อำเภอชาติตระการ วังทอง เมือง และบางระกำ ในวันเดียวได้หรือไม่ ผมก็ตอบไปตามข้อมูลที่ได้จากพี่ๆที่เตรียมอุดมฯว่า เฉพาะเดินทางไปชาติตระการก็ร่วม 2 ชั่วโมงแล้ว ทางเจ้าหน้าที่ก็ขอบคุณและบอกว่าจะติดต่อกลับมาใหม่

   หลังจากนั้นไม่กี่วัน คุณศุภโชค คำแฝง เจ้าหน้าที่ของรัฐสภา ได้โทรศัพท์มาแจ้งว่า ทางคณะกรรมการจะเดินทางมาประเมินที่โรงเรียน โดยมีสภาชิกวุฒิสภาเป็นประธานกรรมการ ส่วนกำหนดเวลานั้นจะแจ้งอีกครั้งหนึ่ง ผมก็บอกคุณศุภโชคไปว่า "รีบๆมาหน่อยนะครับ น้ำกำลังจะท่วม" ทางคุณศุภโชคก็ตกใจบอกว่า "ทางในเมืองก็ท่วมหรือครับ" ผมเลยบอกไปว่า "โรงเรียนผมอยู่ที่บางระกำครับ" ก็เลยได้ทราบกันว่า ผมเองเป็นครูบ้านนอกอยู่ที่บางระกำ (สงสัยรูปถ่ายที่ส่งไป ผมคงจะดูหน้าตาในเมือง... ฮา)

   แล้ววันที่ประเมินก็มาถึง (26 ก.ย. 55) ทางคุณศุภโชคโทรมาแต่เช้าเลย บอกว่าทางผู้ที่มาตรวจประเมินคือ ท่าน พล.อ.สมเจตน์  บุญถนอม (พอได้ยินชื่อผมก็คิดในใจเลยว่า คนดังมาประเมินเราเลยนะเนี่ย)

   ทางคุณศุภโชคได้แจ้งว่า เครื่องบินเสียเวลา จะดำเนินการประเมินที่ทางชาติตระการก่อน จากนั้นก็มาที่วังทอง แล้วจะมาประเมินผม ต่อด้วยโรงเรียนชุมแสงสงคราม ส่วนทาง ม.นเรศวร จะประเมินตอนเช้าวันที่เดินทางกลับ คาดว่าคงจะมาถึงโรงเรียนผมไม่เกิน 17.00 น. ผมก็บอกว่า ยังไงก็ต้องรอ เพราะวันที่ 27 ก.ย. 55 ผมจะต้องนำนักเรียนไปแข่งวิทยาศาสตร์ และ คอมพิวเตอร์ของงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนระดับเขตพื้นที่การศึกษา รวมถึงตัวผมก็ต้องไปเป็นกรรมการด้วย

   ทางคณะ ได้เดินทางมาถึงเวลา 16.50 น. (ไม่เกิน 17.00 น. จริงๆด้วย) ผมก็ได้นำเสนอการประยุกต์ใช้สื่อเทคโนโลยีต่างๆในการจัดการเรียนรู้ การนำองค์ความรู้เผยแพร่ ทั้งการเป็นวิทยากรต่างๆ และเป็นอาจารย์พิเศษ โปรแกรมวิชาบรรณรักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฏพิบูลสงคราม และเผยแพร่ผลงานบนเว็บไซต์ รวมไปถึงการทำ e-Book สู้ภัยพิบัติ ชุด อยู่กับน้ำ โดยให้เด็กนักเรียนศึกษาจาก e-Book แล้วจัดทำเสื้อชูชีพ ซึ่งท่าน พล.อ. สมเจตน์ บุญถนอม ก็แสดงความชื่อชม และให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม

   แล้ววันหนึ่ง ไปรษณีย์ก็รีบมาส่งข่าว เมื่อเปิดอ่านก็รู้สึกดีใจอย่างมากเพราะ "ได้รับรางวัล" หนังสือเลขที่ สว (กมธ ๑) ๐๐๐๙ / ว๗๖๐๖ ลงวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๕ สำนักกรรมาธิการ ๑ กลุ่มงานกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ฯ

   หลังจากนั้นประมาณ 2 วัน ผมก็ได้รับ email จากพี่แดง ซึ่งพี่แดงก็ได้ค้นหาประวัติของผม และขอเบอร์ติดต่อของผมจากท่าน ผอ.เฉลิม มีมาก พี่แดงได้แนะนำตัว และบอกว่า "พี่เคยเป็นลูกศิษย์น้องแชมป์นะ" ผมรีบบอกพี่แดงไปว่า อย่าพูดแบบนั้น เราแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ผมเป็นแค่คนจัดการข้อมูลนำเสนอพวกพี่ๆเท่านั้นเอง จากนั้นเราก็นัดหมายว่าจะเดินทางไปพร้อมกัน

   ผมออกเดินทางวันที่ 4 พ.ย. 55 โดยเข้าพักที่หอพักคุรุสภา เมื่อเข้าพักแล้ว ก็ชวนกันไปไหว้เสด็จเตี่ยกรมหลวงชุมพร บุคคลที่ผมเคารพ เชิดชู และทรงเป็นแบบอย่างของความรักชาติของผม

พี่แดง แห่งโรงเรียนบ้านป่าแดง

หลงไปลานพระบรมรูปฯ ซะอย่างนั้น กว่าจะไปถึงนางเลิ้ง ก็โพล้เพล้เกือบค่ำแล้ว

จ่าคนนี้ ไม่เคยบ่น

เสด็จเตี่ย กรมหลวงชุมพร

   วันที่ 5 พ.ย. 2555 เวลา 07.30 น. ผมได้เดินทางไปรายงานตัวที่รัฐสภา ในขณะที่รอนั้น ก็ได้พบกับท่าน ศ.ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ผู้ซึ่งเป็นต้นแบบด้าน e-Learning ของผม (ตอนทำวิทยานิพนธ์ ท่าน ผศ.ดร.ชัยวัฒน์  สุทธิรัตน์ ได้บอกว่า หากคิดจะเล่นเรื่อง e-Learning ต้องมีโอกาสได้เจอกับเจ้าพ่อ e-Learning ให้ได้ ) ซึ่งวันที่ผมได้มีโอกาสได้พบท่าน ก็เป็นวันที่เราทั้งสองได้รับรางวัลเรื่อง e-Learning เหมือนกัน (ดีใจสุดๆครับ)

ท่าน ศ.ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน

ท่านได้เมตตามอบนามบัตรให้เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้

ท่านนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ให้เกียรติถ่ายรูปเป็นที่ระลึก

"อ้าว เด็กนักเรียนเรานี่นา"

ดร.นิลวรรณ  เพชระบูรณิน ประธานกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสารและโทรคมนาคม วุฒิสภา

ท่าน สว.รสนา โตสิตระกูล ให้เกียรติถ่ายรูปเป็นที่ระลึก

"อุ๊ย!! พื้นที่หวงห้าม ที่เราได้เข้าไป"

คุณศุภโชค คำแฝง ผู้ประสานงานในครั้งนี้

รัฐธรรมนูญฉบับปี 50 (ตอนถ่าย เจ้าหน้าที่มองกันเต็มเลย)

เอกสารและกระเป๋าที่ได้รับมาพร้อมกัน

ในเอกสารหน้าสรุปโครงการฯ ของกรรมาธิการวุฒิสภา

ลายมือท่าน พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ในสมุดตรวจราชการของโรงเรียน

 

ข้าราชการ คนของพระราชา
 

   ขอกราบขอบพระคุณพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ทุกท่าน ที่ประสิทธิ์ประสาทความรู้ และสรรพวิชาต่างๆ ตลอดจนถึงแนวทางการปฏิบัติตนให้สมกับความเป็นคนของพระราชา ข้าของแผ่นดิน ทั้งครูบาอาจารย์โรงเรียนเทพพิทักษ์วิทยา (ประถม) โรงเรียนพิริยาลัยจังหวัดแพร่ (มัธยม) รวมถึงท่าน ดร.สว่าง ภู่พัฒน์วิบูลย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ท่าน ผศ.สุรีย์ ไวยกุฬา ท่าน ผศ.เฉลิมชัย สังโยคะ ท่าน ผศ.ชญานิษฐ์  ศศิวิมล รวมไปถึงคณาจารย์ทุกท่าน ที่ได้สังสอน หล่อหลอมให้ผมเป็นครูวิทยาศาสตร์ในวันนี้ (ขออภัย หากนำรายชื่ออาจารย์ทุกท่านมาลง คงใช้เวลาหลายวัน)

   ความภาคภูมิใจในครั้งนี้ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งสำหรับความสำเร็จในเบื้องหน้า วันแรกที่ได้ตั้งใจปฏิญาณกับพระองค์ท่านไว้ว่า "ขอเป็นข้าราชการรองพระบาทแห่งพระองค์ทุกชาติไป" จะคอยย้ำเตือนให้ประพฤติปฏิบัติตน และทำหน้าที่อย่างสุดความสามารถ

[หน้าแรก] [counter] [ ]