รื่นเริงลอยกระทง
 

                                                                                                                                        ผศ.สุรีย์  ไวย์กุฬา



                                                                วันเพ็ญเดือนสิบสอง             น้ำนองเต็มตลิ่ง
                                                            เราทั้งหลายชายหญิง                สนุกกันจริงวันลอยกระทง
                                                                ลอย ลอย กระทง                  ลอย ลอย กระทง
                                                            ลอยกระทงกันแล้ว                    ขอเชิญน้องแก้วมาเล่นรำวง
                                                                รำวงวันลอยกระทง                รำวงวันลอยกระทง
                                                            บุญจะส่งให้เราสุขใจ                 บุญจะส่งให้เราสุขใจ
 


           เพลงลอยกระทงเป็นเพลงที่ได้รับความนิอยมอย่างสูงทั้งชาวไๆทยและชาวต่างประเทศชาวไทยมีผู้ร้องเพลงนี้ได้ตั้งแต่เล็กๆ จนกระทั่งผู้สูงอายุ แทบจะกล่าวได้ว่าผู้ที่ชื่อว่าเป็นคนไทยจะร้องเพลงนี้ได้ ส่วนชาวต่างชาตินั้นในเรื่องของอาหาร ชื่อต้มยำกุ้งเป็นชื่อที่ติดปากรู้จักกันแพร่หลาย ถ้าเพลงไทยต้องเพลงลอยกระทง จะพยายามฝึกร้องให้ได้ บางชาตินำเพลงลอยกระทงเป็นสื่อในการเรียนรู้ภาษาไทย และวัฒนธรรมประเพณีไทย อีกไม่กี่วันเราก็จะได้ฟังเพลงนี้ทุกหัวระแหง วันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีนี้ ตรงกับวันพุธที่ ๑๖ พฤศจิกายน


        ประเพณีลอยกระทงสันนิษฐานว่าเป็นประเพณีดั้งเดิมของอินเดีย ต่อมาเผยแพร่มายังเขมร พม่า ลาวและไทย มีการดัดแปลงปรับเปลี่ยนรูปแบบ พฤติกรรมต่างๆให้เเหมาะสมสำหรับประเทศไทยนั้นไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่ามีมาตั้งแต่ครั้งใด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสันนิษฐานว่า มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยซึ่งเป็นพระราชพิธีเรียกว่า “พระราชพิธีจองเปรียงชักโคม ลอยโคม” เป็นการปฏิบัติเพื่อบูชาเทพเจ้าในพิธีพราหมณ์ของอินเดีย คือ พระอิศวร พระพรหม และพระนารายณ์ ต่อมาได้ถือคติทางพระพุทธศาสนา คือ มีการยกโคมเพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุ พระจุฬามณีในชั้นดาวดึงส์ การลอยโคมเพื่อบูชาพระพุทธบาทซึ่งประดิษฐาน ณ หาดทรายแม่น้ำนัมมทานที


        การลอยกระทงในปัจจุบันถือเป็นประเพณีที่สนุกสนานรื่นเริงเป็นหลัก หน่วยงานต่างๆ จัดประกวดกระทง ประกวดนางนพมาศและการแสดงรื่นเริงต่างๆ ใหญ่โต ประชาชนส่วนใหญ่จะซื้อกระทงตามกำลังทรัพย์ เพื่อจะไปลอยตามแม่น้ำลำคลอง ด้วยความสนุกสนาน โดยอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเหตุผลสำคัญของประเพณีลอยกระทงจัดขึ้นเพื่ออะไร มีความสำคัญควรค่าแก่การสืบสานอย่างไร เหตุผลในการจัดประเพณีลอยกระทง มีทั้งความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์ ศาสนาพุทธและความเชื่ออื่นๆ กล่าวพอสังเขปดังนี้
        ๑. เพื่อต้อนรับพระพุทธเจ้าในวันเสด็จกลับจากเทวโลก เมื่อครั้งเสด็จไปจำพรรษาอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อทรงเทศนาอภิธรรมโปรดพุทธมารดา
        ๒. เพื่อสักการะรอยพระพุทธบาทที่ประทับรอยประดิษฐานไว้บนหาดทราย ณ ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที ประเทศอินเดีย
        ๓. เพื่อบูชาพระจุฬามณีบนสวรรค์ ซึ่งเป็นที่บรรจุพระเกศาของพระพุทธเจ้า
        ๔. เพื่อบูชาพระอุปคตตเถระที่บำเพ็ญเพียรบริกรรมคาถาอยู่ในท้องทะเลลึกหรืออสะดือทะเล ซึ่งตามตำนานเล่าว่า เป็นพระมหาเถระรูปหนึ่งที่มีอิทธิฤทธิ์มาก สามารถปราบพญามารได้
        ๕. เพื่อบูชาพระผู้เป็นเจ้า คือ พระนารายณ์ซึ่งบรรทมสินธุ์ในมหาสมุทร
        ๖. เพื่อแสดงความสำนึกบุญคุณของพระแม่คงคา ที่ได้นำมากิน มาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน รวมทั้งขอขมาลาโทษในการทำให้แหล่งน้ำไม่สะอาด
        ๗. เพื่อบูชาท้าวพกาพรหมบนสวรรค์ชั้นพรหมโลก
        ๘. เพื่อลอยเคราะห์หรือสะเดาะเคราะห์ คล้ายกับพิธีลอยบาปของพราหมณ์
        ๙. เพื่อบูชาเทพเจ้าตามความเชื่อของตน
        ๑๐. เพื่ออธิฐานขอพรในสิ่งที่ตนปราถนา

        ในการลอยกระทงอาจจะเพื่อเหตุผลใดเหตุผลหนึ่งแล้ว ตามวัย และประสบการณ์สำหรับคนหนุ่มสาววันลอยกระทงจะเป็นวันที่มีชีวิตชีวาเป็นพิเศษ สำหรับผู้ที่กำลังมีความรักกระทงที่ลอยอาจจะเป็นการทำนายทายทักถึงอนาคตของความรักว่าจะยั่งยืน สมหวังหรือไม่ แต่ไม่ว่าจะเป็นวัยใด และลอยกระทงเพื่อเหตุผลใด ขอให้มีจิตสำนึกในการส่งเสริม สืบทอดประเพณีอันดีงาม และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม คือ แม่น้ำลำคลองใช้วัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายง่าย ถ้ามีโอกาสหลังจากลอยกระทงแล้ว ช่วยกันเก็บขยะเหล่านั้นเพื่อให้แม่น้ำใสสะอาด เพื่อชุบชีวีของสรรพสิ่งให้ยั่งยืนยาวต่อไป

คำกล่าวบูชาในการลอยกระทง

        ข้าพเจ้าขอบูชาซึ่งรอยพระพุทธบาท ที่ตั้งอยู่เหนือหาดทราย ณ ฝั่งแม่น้ำชื่อนัมมทาโน้นด้วยประทีปนี้
การบูชารอยพระพุทธบาทด้วยประทีปนี้ ขอจงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ข้าพเจ้าสิ้นกาลนานเทอญ


หนังสืออ้างอิง
คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ, สำนักงาน. (๒๕๔๖) ประเพณีลอยกระทง คุณค่าสาระ และแนวทางปฏิบัติ กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์
 


รื่นเริงลอยกระทง



                                                                เห่เอยพระจันทร์เพ็ญ             งดงามเด่นกลางเวหา
                                                        ราชินีแห่งท้องฟ้า                          แสงดาราพามืดมน
                                                               สิบห้าค่ำเดือนสิบสอง            น้ำเจิ่งนองทั่วมณฑล
                                                        ธารางามน่ายล                             ประชาชนรื่นเริงใจ
                                                                จัดงานลอยกระทง                 มุ่งประสงค์สุขสดใส
                                                        ประเพณีส่งเสริมให้                       ชุมชนได้สามัคคี
                                                                ร่วมคิดประดิษฐ์กระทง          บูชาองค์พระมุนี
                                                        รอยบาทประทับที่                          ฝั่งนทีนัมมทา
                                                                บ้างจิตคิดรำลึก                     สำนึกคุณแม่คงคา
                                                        ดื่มอาบล้างซักผ้า                         ทำธาราขุ่นหมองไป
                                                                 บ้างเห็นประจวบเหมาะ         สะเดาะเคราะห์ให้ห่างไกล
                                                        ลอยทุกข์ ลอยบาปไป                   เช่นเคยมีพิธีพราหมณ์
                                                                 ผู้คิดประดิษฐ์กระทง             ทรงดอกบัวอย่างงดงาม
                                                        คือสตรีที่มีนาม                              นางนพมาศกำนัลใน
                                                                 ถวายแด่พระผ่านเผ้า             พระร่วงเจ้าสุโขทัย
                                                        สถาปนายศศักดิ์ให้                         ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ประจักษ์มา
                                                                  กระทงทรงกลีบบัว                นิยมทั่วทั้งพารา
                                                        บรรจงประดิษฐ์มา                          ประณีตงามตามอย่างไทย
                                                                    ดอกไม้และธูปเทียน          บ้างเศษเหรียญนำมาใส่
                                                        หมากพลูจัดเตรียมไว้                     ตกแต่งให้งดงามตา
                                                                    บ้างตัดผมเล็บตน               ใส่ปะปนเพระเชื่อมา
                                                        ลอยเคราะห์สู่คงคา                         ทุกข์โศกาจะหมดไป
                                                                    ชักชวนเหล่าญาติมิตร         เพื่อสนิทที่รู้ใจ
                                                        ร่วมลอยกระทงไป                           เคียงคู่ชื่นรื่นอุรา
                                                                    เห่เอยกระทงทอง                 ลอยละล่องท้องคงคา
                                                        แวววับงามจับตา                             บุญนำพาให้สุขใจ
                                                                    ผองไทยจงตระหนัก             ดำรงรักษ์ธาราใส
                                                        ส่งเสริมวิถีไทย                                 สืบสานไว้ยั่งยืนยง

 

ร่วมสนับสนุนเรา โดยการทำ link มาหาเรานะครับ เฟอร์นิเจอร์ไม้สัก พรมลายน่ารัก มะขาม ขนมจีน ข้อสอบ o-net a-net สอบบรรจุครู

     มะขาม

[หน้าแรก] [รวมสาระ] [webboard]   counter power by seal2th