วันครู

ประวัติวันครู


โดย  :
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ
รวบรวมโดย :
สถาบันเด็ก มูลนิธิเด็ก         

  • ความหมาย

           ครู หมายถึง ผู้อบรมสั่งสอน; ผู้ถ่ายทอดความรู้ ผู้สร้างสรรค์ภูมิปัญญา และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของสังคมและประเทศชาติ

  • ความเป็นมา

          วันครูได้จัดให้มีขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๐ สืบเนื่องมาจากการประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๘ ซึ่งระบุให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการเรียกว่า คุรุสภาเป็นนิติบุคคลให้ครูทุกคนเป็นสมาชิกคุรุสภา โดยมีหน้าที่ในเรื่องของสถาบันวิชาชีพครูในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ให้ความเห็นเรื่องนโยบายการศึกษา และวิชาการศึกษาทั่วไปแก่กระทรวงศึกษา ควบคุมจรรยาและวินัยของครู รักษาผลประโยชน์ ส่งเสริมฐานะของครู จัดสวัสดิการให้ครูและครอบครัวได้รับความช่วยเหลือตามสมควร ส่งเสริมความรู้และความสามัคคีของครู

          ด้วยเหตุนี้ในทุก ๆ ปี คุรุสภาจะจัดให้มีการประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้แทนครูจากทั่วประเทศแถลงผลงานในรอบปีที่ผ่านมา และซักถามปัญหาข้อข้องใจต่าง ๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานของคุรุสภาโดยมีคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาเป็นผู้ตอบข้อสงสัยสถานที่ในการประชุมสมัยนั้นใช้หอประชุมสามัคคยาจารย์ หอประชุมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในระยะหลังใช้หอประชุมคุรุสภา

          ปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ในที่ประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ ได้กล่าวคำปราศรัยต่อที่ประชุมครูทั่วประเทศว่า“ที่อยากเสนอในตอนนี้ก็คือว่า เนื่องจากผู้เป็นครูมีบุญคุณเป็นผู้ให้แสงสว่างในชีวิตของเราทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าวันครูควรมีสักวันหนึ่งสำหรับให้บันดาลูกศิษย์ทั้งหลาย ได้แสดงความเคารพสักการะต่อบรรดาครูผู้มีพระคุณทั้งหลาย เพราะเหตุว่าสำหรับคนทั่วไปถ้าถึงวันตรุษ วันสงกรานต์ เราก็นำเอาอัฐิของผู้มีพระคุณบังเกิดเกล้ามาทำบุญ ทำทาน คนที่สองรองลงไปก็คือครูผู้เสียสละทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าในโอกาสนี้จะขอฝากที่ประชุมไว้ด้วย ลองปรึกษาหารือกันในหลักการ ทุกคนคงจะไม่ขัดข้อง”

          จากแนวความคิดนี้ กอปรกับความคิดเห็นของครูที่แสดงออกทางสื่อมวลชนและอื่น ๆ ที่ล้วนเรียกร้องให้มีวันครูเพื่อให้เป็นวันแห่งการรำลึกถึงความสำคัญของครูในฐานะที่เป็นผู้เสียสละ ประกอบคุณงามความดีเพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นอันมาก ในปีเดียวกันที่ประชุมคุรุสภาสามัญประจำปีจึงได้พิจารณาเรื่องนี้และมีมติเห็นควรให้มีวันครูเพื่อเสนอคณะกรรมการอำนวยการต่อไป โดยได้เสนอหลักการว่า เพื่อจะได้ประกอบพิธีระลึกถึงคุณบูรพาจารย์ ส่งเสริมสามัคคีธรรมระหว่างครูและเพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างครูกันประชาชน

          ในที่สุดคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๔๙๙ ให้วันที่ ๑๖ มกราคมของทุกปีเป็น “วันครู” โดยเอาวันที่ประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๘ เป็นวันครูและให้กระทรวงศึกษาธิการสั่งการให้นักเรียนและครูหยุดในวันดังกล่าวได้

          การจัดงานวันครูได้จัดเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๐ ในส่วนกลางใช้สถานที่ของกรีฑาสถานแห่งชาติเป็นที่จัดงาน งานวันครูนี้ได้กำหนดเป็นหลักการให้มีอนุสรณ์งานวันครูไว้แก่อนุชนรุ่นหลังทุกปี อนุสรณ์ที่สำคัญคือ หนังสือประวัติครู หนังสือที่ระลึกวันครู และสิ่งก่อสร้างที่เป็นถาวรวัตถุ

          การจัดงานวันครูได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกิจกรรมให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมตลอดเวลาในปัจจุบันได้จัดรูปแบบการจัดงานวันครูจะมีกิจกรรม ๓ ประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้

    1. กิจกรรมทางศาสนา
    2. พิธีรำลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ ประกอบด้วยพิธีปฏิญาณตน การกล่าวคำระลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์
    3. กิจกรรมเพื่อความสามัคคีระหว่างผู้ประกอบอาชีพครู ส่วนมากเป็นการแข่งขันกีฬาหรือการจัดงานรื่นเริงในตอนเย็น

          ปัจจุบันการจัดงานวันครู ได้มีการกำหนดให้จัดพร้อมกันทั่งประเทศ สำหรับในส่วนกลางจัดที่หอประชุมคุรุสภาโดยมีคณะกรรมการจัดงานวันครู ซึ่งมีปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน ประกอบด้วยบุคคลหลายอาชีพร่วมกันเป็นผู้จัด สำหรับส่วนภูมิภาคมอบให้จังหวัดเป็นผู้ดำเนินการ โดยตั้งคณะกรรมการจัดงานวันครูขึ้นเช่นเดียวกับส่วนกลางจะจัดรวมกันที่จังหวัดหรือแต่ละอำเภอก็ได้

          รูปแบบการจัดงานในส่วนกลาง (หอประชุมคุรุสภา) พิธีจะเริ่มตั้งแต่เช้า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภา คณะกรรมการอำนวยการคุรุสภา คณะกรรมการจัดงานวันครู พร้อมด้วยครูอาจารย์และประชาชนร่วมกันใส่บาตรพระสงฆ์ จำนวน ๑,๐๐๐ รูป หลังจากนั้นทุกคนที่มาร่วมงานจะเข้าร่วมพิธีในหอประชุมคุรุสภา นายกรัฐมนตรีเดินทางมาเป็นประธานในงาน ดนตรีบรรเลงเพลงมหาฤกษ์ นายกรัฐมนตรีบูชาพระรัตนตรัย ประธานสงฆ์ให้ศีล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวรายงานต่อนายกรัฐมนตรี เสร็จแล้วพิธีบูชาบูรพาจารย์โดยครูอาวุโสนอกประจำการจะเป็นผู้กล่าวนำพิธีสวดคำฉันท์รำลึกถึงประคุณบูรพาจารย์ ว่าดังนี้

คาถา ปาเจราจริยา โหนติ คุณุตตรานุสาสกา (วสันตดิลกฉันท์)

     ข้าขอประนมกรกระพุ่ม

อภิวาทนาการ

กราบคุณอดุลคุรุประทาน

หิตเทิดทวีสรร

     สิ่งสมอุดมคติประพฤติ

นรยึดประคองธรรม์

ครูชี้วิถีทุษอนันต์

อนุสาสน์ประภาษสอน

     ให้เรืองและเปรื่องปริวิชาน

นะตระการสถาพร

ท่านแจ้งแสดงนิติบวร

ดนุยลยุบลสาร

     โอบเอื้อและเจือคุณวิจิตร

ทะนุศิษย์นิรันดร์กาล

ไปเบื่อก็เพื่อดรุณชาญ

ลุฉลาดประสาทสรรพ์

     บาปบุญก็สุนทรแถลง

ธุระแจงประจักษ์ครัน

เพื่อศิษย์สฤษฎ์คติจรัล

มนเทิดผดุงธรรม

     ปวงข้าประดานิกรศิษ

(ษ) ยะคิดระลึกคำ

ด้วยสัตย์สะพัดกมลนำ

อนุสรณ์เผดียงคุณ

     โปรดอวยพรสุพิธพรอเนก

อดิเรกเพราะแรงบุญ

ส่งเสริมเฉลิมพหุลสุน -

ทรศิษย์เสมอเทอญฯ

คาถา ปญญาวุฑฺฒิกเรเตเต ทินฺโนวาเท นมามิหํ

          คำประพันธ์ของ พระวรเวทย์พิสิฐ (วรเวทย์ ศิวะศริยานนท์) ครูอาวุโสสวดคาถาแรกแล้ว สวดคำฉันท์ ในวรรคแรก นำผู้ที่มาประชุมสวดต่อจนจบ แล้วครูอาวุโสสวดคาถาท้าย

          จากนั้นประธานจัดงานวันครู จะเชิญผู้ร่วมประชุมยืนสงบ ๑ นาที เพื่อระลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ที่ล่วงลับไปแล้ว ต่อด้วยครูอาวุโสในประจำการ นำผู้ร่วมประชุมกล่าวปฏิญาณ ดังนี้

          ข้อ ๑ ข้าจะบำเพ็ญตนให้สมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นครู
          ข้อ ๒ ข้าจะตั้งใจฝึกสอนศิษย์ให้เป็นพลเมืองดีของชาติ
          ข้อ ๓ ข้าจะรักษาชื่อเสียงของคณะครูและบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม

          จากนั้นพระสงฆ์เจริญชัยมงคล แล้วต่อด้วยนายกรัฐมนตรีมอบรางวัลครูดีเด่นประจำปี มอบของระลึกให้ครูอาวุโสนอกและในประจำการ สุดท้ายกล่าวปราศรัยกับคณะครูที่มาประชุม

  • จรรยามารยาทและวินัยตามระเบียบประเพณีของครู
    1. เลื่อมใสการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขด้วยความบริสุทธิ์ใจ
    2. ยึดมั่นในศาสนาที่ตนนับถือ ไม่ลบหลู่ดูหมิ่นศาสนาอื่น
    3. ตั้งใจสั่งสอนศิษย์และปฏิบัติหน้าที่ของตนให้เกิดผลดีด้วยความเอาใจใส่ อุทิศเวลาของตน ให้แก่ศิษย์ จะละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่การงานไม่ได้
    4. รักษาชื่อเสียงของตนมิให้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว ห้ามประพฤติการใด ๆ อันอาจทำให้เสื่อมเสียเกียรติและชื่อเสียงของครู
    5. ถือปฏิบัติตามระเบียบและแบบธรรมเนียมอันดีงามของสถานศึกษา และปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ซึ่งสั่งในหน้าที่การงานโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแบบแผนของสถานศึกษา
    6. ถ่ายทอดวิชาความรู้โดยไม่บิดเบือนและปิดบังอำพราง ไม่นำหรือยอมให้นำผลงานทางวิชาการของตนไปใช้ในทางทุจริตหรือเป็นภัยต่อมนุษย์ชาติ
    7. ให้เกียรติแก่ผู้อื่นทางวิชาการโดยไม่นำผลงานของผู้ใดมาแอบอ้างเป็นผลงานของตนและไม่เบียดบังใช้แรงงานหรือนำผลงานของผู้อื่นไป พื่อประโยชน์ส่วนตน
    8. ประพฤติตนอยู่ในความซื่อสัตย์สุจริต และปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความเที่ยงธรรมไม่แสวงหาประโยชน์สำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ
    9. สุภาพเรียบร้อยประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ รักษาความลับของศิษย์ ของผู้ร่วมงานและของสถานศึกษา
    10. รักษาความสามัคคีระหว่างครูและช่วยเหลือกันในหน้าที่การงาน

        ผู้ที่จะเป็นครูได้นั้น ต้องเป็นผู้มีความเสียสละอย่างมาก เพราะการที่จะอบรมสั่งสอนศิษย์ให้เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ในสังคมได้ ไม่เพียงแต่ครูจะต้องถ่ายทอดวิชาความรู้ให้เท่านั้น แต่ต้องสอนสั่งให้ศิษย์เป็นคนดี เป็นคนมีคุณภาพของสังคม ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้ทั้งเวลาและการดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด ครูจึงมีพระคุณเปรียบประดุจพ่อแม่คนที่สองของเรา

        ในหนังสือวันสำคัญโครงการปีรณรงค์วัฒนธรรมไทยฯ ของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้กล่าวถึง ความเป็นมาของ “วันครู” ว่าสืบเนื่องมาจากในปี พ.ศ. ๒๔๙๙จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ด้วยในสมัยนั้น ได้กล่าวปราศรัยต่อที่ประชุมครูทั่วประเทศ ถึงแนวความคิดที่จะกำหนดให้มีวันครูขึ้น ด้วยเห็นว่าครูเป็นผู้มีบุญคุณเป็นผู้ให้แสงสว่างแก่ชีวิต จึงควรมีสักวันหนึ่งที่จะให้ศิษย์ทั้งหลายได้แสดงความเคารพสักการะต่อบรรดาครูผู้มีพระคุณ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวสอดคล้องกับความคิดเห็นของครูทั่วไป

        ดังนั้น ในวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๙คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้ทุกวันที่ ๑๖ มกราคมของทุกปี เป็น “วันครู” โดยถือเอาวันที่ประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๘ เป็นวันครู และให้กระทรวงศึกษาธิการสั่งการให้นักเรียนและครูหยุดในวันดังกล่าวได้

        การจัดงาน “วันครู” มีขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๐๐ ณ กรีฑาสถานแห่งชาติ โดยมีหลักการว่าให้มีอนุสรณ์งานวันครูไว้แก่อนุชนรุ่นหลังทุกปี ซึ่งอนุสรณ์สำคัญก็ได้แก่ หนังสือประวัติวันครู หนังสือที่ระลึกวันครู และสิ่งก่อสร้างเป็นถาวรวัตถุ ต่อมาการจัดงานวันครูก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงกิจกรรมให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเรื่อยมา จนปัจจุบันรูปแบบสำคัญมักจะประกอบด้วย กิจกรรมทางศาสนา พิธีรำลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ การกล่าวปฏิญาณตน การกล่าวรำลึกถึงพระคุณบูราพาจารย์ และกิจกรรมเพื่อความสามัคคีระหว่างผู้ประกอบอาชีพครู เป็นต้น



        สำหรับดอกไม้ประจำวันครู คือ “ดอกกล้วยไม้” โดยพิจารณาเห็นว่าคุณลักษณะของดอกกล้วยไม้ มีลักษณะและความหมายคล้ายคลึงกับสภาพชีวิตครู นั่นคือ กว่ากล้วยไม้แต่ละช่อจะผลิดอกออกผลให้เราชื่นชมได้ ต้องใช้เวลานานและต้องการดูแลเอาใจใส่ไม่น้อย เช่นเดียวกับครูแต่ละคน กว่าจะสั่งสอนเคี่ยวเข็ญศิษย์คนแล้วคนเล่าให้มีความเจริญงอกงามก้าวหน้าในชีวิตได้ ก็ต้องใช้เวลาอบรมสั่งสอนมิใช่น้อยเช่นกัน นอกจากนี้ กล้วยไม้ยังเป็นพืชที่อยู่ในที่สูงทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศ ไม่ร่วงโรยง่าย เปรียบเสมือนครูที่อยู่ทั่วแดนไทยที่ต้องอดทนต่อสู้เพื่ออุดมการณ์และอุทิศตนเพื่อการศึกษาของชาติ

ดังคำกลอนของ หม่อนหลวงปิ่น มาลากุล ศิลปินแห่งชาติ ที่ว่า

“กล้วยไม้มีดอกช้า ฉันใด
การศึกษาเป็นไป เช่นนั้น
แต่ออกดอกคราวใด งานเด่น
งานสั่งสอนปลูกปั้น เสร็จแล้วแสนงาม”

    พระพุทธเจ้าได้เปรียบครูว่า เป็นดังทิศเบื้องขวา ผู้ซึ่งมีหน้าที่อนุเคราะห์ต่อศิษย์ดังนี้
๑ แนะนำฝึกอบรมให้เป็นคนดี
๒.สอนให้เข้าใจแจ่มแจ้ง
๓.สอนศิลปวิทยาให้สิ้นเชิง
๔.ส่งเสริมยกย่องความดีงามความสามารถให้ปรากฏ และ
๕.สร้างเครื่องคุ้มภัยในสารทิศ คือ สอนฝึกให้สามารถใช้วิชาเลี้ยงชีพ และรู้จักดำรงรักษาตน ในอันที่จะดำเนินชีวิตต่อไปด้วยดี

        งานของครู นั้น เป็นงานหนัก และเป็นงานที่มีความสำคัญต่อบ้านเมืองเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นงานสร้างคน โดยเฉพาะการสร้าง “คนดี” อันจะเป็นเสมือน “ต้นกล้า”ที่มีคุณภาพให้แก่แผ่นดินในอนาคต

ที่มา : หนังสือวันสำคัญ โครงการปีรณรงค์วัฒนธรรมไทยและแนวทางในการจัดกิจกรรม

     และ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ. ข้อมูลวันสำคัญโครงการปีรณรงค์วัฒนธรรมไทยและแนวทางในการจัดกิจกรรม. กรุงเทพฯ : สำนักงาน, 2537.

ได้รับการสนับสนุนโดย ร้านขนมจีนมะขาม สารัช

ผลงาน คศ.3

 [หน้าแรก] [webboard] [รวมสาระ] [คุรุชน] [สอบบรรจุครู]  counter power by seal2thai.org